ยินดีต้อนรับ

พลเมืองที่รอบรู้เท่าทัน คือ พลังประชาธิปไตยที่แท้จริง
Well-informed citizens are the true democratic forces.

Saturday, January 30, 2016

เลือกตั้งปลายปี 2560 จริงหรือ?

เลือกตั้งปลายปี 2560 จริงหรือ? 




เลือกตั้งปลายปี2560จริงหรือ? : คมวิเคราะห์การเมืองรอบสัปดาห์ โดยสมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

           คำถามใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ในปี 2560 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ จะเป็นตามปฏิทินเดิมคือ ประมาณกลางปี หรือจะต้องเลื่อนออกไปปลายปี หรือจะนานกว่านั้น?

         จุดเริ่มของคำถามนี้มาจาก "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เรื่องการทำประชามติเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ โดยนายมีชัยบอกทำนองว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไข เพราะจะทำให้ประชาชนไม่สนใจดูเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะไปดูที่เงื่อนไขมากกว่า

         ประโยคที่ทำให้เป็นประเด็นขึ้นมาคือ เมื่อนักข่าวถามว่า หากไม่แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้วร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะทำอย่างไร ซึ่งมีชัยตอบว่า "ถ้าประชามติไม่ผ่าน รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็บังคับใช้ต่อไป" ซึ่งมีบางคนไปตีความว่า หมายถึงจะเอารัฐธรรมนูญชั่วคราวมาใช้เป็นการถาวร หมายถึงจะไม่มีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามโรดแม็พที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยกำหนดไว้หรือไม่

         ร้อนถึง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. ต้องออกมายืนยันว่า จะให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 ให้ได้ โดยระบุลงไปด้วยว่า เป็นเดือนกรกฎาคม 2560 ยกเว้นถ้าให้ไปเลือกตั้งแล้วยังทะเลาะกันไม่ไปเลือกตั้ง อันนั้นนายกฯ บอก ก็ช่วยไม่ได้แล้ว

         แค่วันเดียวหลัง พล.อ.ประยุทธ์ออกมาการันตีว่าจะให้มีการเลือกตั้ง กรกฎาคม 2560 ก็มีข่าวออกมาว่า การเลือกตั้งอาจขยับไปเป็นปลายปี 2560 เพราะในบทเฉพาะกาลได้เขียนกำหนดระยะเวลาในการออกกฎหมายลูก หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องออกให้เสร็จก่อนเลือกตั้งว่า ให้ใช้เวลาไม่เกิน 8 เดือน และให้ไปเลือกตั้งภายใน 5 เดือน หลังทำกฎหมายลูกเสร็จ

         นั่นหมายความว่า ระยะเวลาที่จะเดินไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็พที่ คสช.เคยกำหนดไว้ และตามที่ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ เคยบอกออกมาเป็นสูตร 6+4+6+4 คือ เลข 6 ตัวที่สอง ซึ่งหมายถึงระยะเวลาในการทำกฎหมายลูกถูกขยายเข้าไปเพิ่มไปอีก 2 เดือน และเลข 4 ตัวที่สองคือระยะเวลาในการไปสู่วันเลือกตั้งก็ขยายไปอีก

         คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเองก็ออกมายอมรับว่า ข้อกำหนดในบทเฉพาะกาลจะทำให้การเลือกตั้งลากยาวไปเป็นปลายปี

         เมื่อพิจารณารายละเอียดก่อนไปสู่การเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งเปิดออกมา จะมี 3 ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ 1.ระยะเวลาร่างกฎหมายลูก 2.ระยะเวลาที่ สนช.พิจารณาร่างกฎหมายลูก 3.ระยะเวลาในการเลือกตั้ง

         เรื่องแรก กำหนดไว้ในมาตรา 259 ว่า ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่จำเป็นรวม 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8 เดือน หากทำไม่เสร็จภายในกำหนด "ให้หัวหน้า คสช.ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่มาทำ" ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ว่าต้องให้เสร็จภายในเวลาเท่าใด

         แน่นอน ทันทีที่ปรากฏเนื้อหาส่วนนี้ออกมาย่อมเกิดคำถามว่า ตั้งใจเขียน "เปิดช่อง" เพื่อยื้อเวลาในการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งชุดเดิมและชุดใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาหากชุดปัจจุบันทำภารกิจไม่เสร็จ ก็ล้วนมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช.

         ผู้สื่อข่าวจึงซักถามนายมีชัยอย่างหนัก ภายหลังการแถลงเปิด "ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น" เมื่อวันศุกร์ (29 ม.ค.) ซึ่งแม้นายมีชัยจะบอกว่า มั่นใจว่าจะร่างทันภายใน 8 เดือน นักข่าวยังซักต่ออีก จนสุดท้ายนายมีชัย จึงบอกว่า "ถ้าติดใจกันมากจะไปตัดออก"

         อย่างไรก็ตาม การเขียน "เปิดช่อง" ไว้อย่างนี้ ทำให้บางคนมองไปถึงข้อกำหนดเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ไม่ได้เขียนเอาไว้ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร รวมถึงเรื่องเสียงที่จะใช้ในการผ่านประชามติจะต้องเป็นเท่าใดแน่ เพราะในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนว่า "ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมาก" ซึ่งนักกฎหมายส่วนใหญ่ตีความว่า หมายถึง "เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" ขณะที่ฝ่าย คสช.ยืนยันว่า หมายถึง "เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ" ซึ่งหากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสียก่อนอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้

         นอกจากนี้ยังมีคำถามถึงประเด็นที่ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องร่างกฎหมายลูกและกฎหมายที่จำเป็น ที่กำหนดไว้ทั้ง 10 ฉบับ ให้เสร็จก่อน จึงจะไปสู่ขั้นตอนการเลือกตั้งได้ จากที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้หรือกระทั่งร่างรัฐธรรมนูญของ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" จะกำหนดกฎหมายที่ต้องทำให้เสร็จก่อนไปเลือกตั้งเพียง 3-4 ฉบับ หลักๆ คือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายว่าด้วยการได้ว่าของ ส.ว. กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งระยะเวลาจะอยู่ที่เพียง 3 เดือนเท่านั้น

         และทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐบาล และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเองก็เคยให้สัมภาษณ์ทำนองว่า กฎหมายที่จำเป็นต้องทำให้เสร็จก่อนก็มีเพียง 3-4 ฉบับนี้ เมื่อตัวบทบัญญัติกำหนดว่าต้องเสร็จก่อนทั้ง 10 ฉบับ จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาเช่นกัน

         ทั้งนี้กฎหมายที่ถูกกำหนดไว้ว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 8 เดือน ได้แก่

         1.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

         2.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

         3.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

         4.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 90

         5.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

         6.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง

         7.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

         8.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

         9.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

         10.กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

         ส่วนที่สอง เรื่องการส่งร่างกฎหมายให้ สนช.พิจารณา ซึ่ง สนช.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 เดือน ดูจะไม่ค่อยมีคำถาม เพราะถือเป็นขั้นตอนปกติ แต่อีกส่วนที่มีคำถามเช่นกัน คือ ระยะเวลาในการเลือกตั้ง ทำไมต้องยาวถึง 5 เดือน ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านมารวมถึงร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ก็อยู่ที่ 3 เดือนเท่านั้น

         มีการตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดเวลาในการเลือกตั้งไว้นานถึง 5 เดือนนั้น เพราะต้องการอำนวยความสะดวกให้แก่บรรดาสมาชิก คสช., สนช.และ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ต้องการลงสมัคร ส.ส.หรือไม่

         ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ว่า หาก คสช. สนช. หรือ สปท. ต้องการจะลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. หรือสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.จะต้องลาออกภายใน 90 วัน ขณะที่มีข้อกำหนดสำหรับผู้ที่จะลงสมัคร ส.ส.ว่า ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน

         จากทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวที่จะเป็นตัวชี้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด ในเบื้องต้นจึงบอกได้ว่า หากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำกฎหมายลูกได้เสร็จตามเวลาที่กำหนด คือ 8 เดือน ระยะเวลาในการเลือกตั้งจะไปตกที่ประมาณเดือนตุลาคม 2560 และในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ภายหลังการเลือกตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จไม่ช้ากว่า 60 วัน เท่ากับว่าจะมีรัฐบาลใหม่ได้ประมาณปลายปี 2560

         นั่นคือ คสช.จะยังคงอยู่ต่อไปโดยมีอำนาจเต็มทุกประการตามที่บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้จนถึงปลายปี 2560

         ยกเว้น! 1.นายมีชัยไม่ได้ไปตัดบทบัญญัติที่เขียนเปิดช่องให้หัวหน้า คสช.สามารถตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่มาจัดทำกฎหมายลูกใหม่ได้ 2.คณะกรรมการชุดนายมีชัยไม่สามารถทำกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับได้เสร็จภายในกำหนดเวลา 3.ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วไม่ผ่าน และ 4.ปัจจัยอื่น

         การเลือกตั้งจะเกิดภายในปี 2560 หรือไม่ จึงยังไม่แน่นอน!!

       อาสาหาข่าว
        31/1/59

No comments:

Post a Comment