แถลงการณ์ตบหน้าสั่งสอนโจรกบฎฉาดใหญ่!!!
นายมาร์ก เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษ
ประจำประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์
ผ่านทางเว็ปไซด์ของสถานทูตฯ ระบุว่า
วันที่ 15 กันยายนของทุกปี
เป็นวันประชาธิปไตยสากลของสหประชาชาติ
และบรรดาชาติสมาชิก
หลังการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว
อังกฤษและสมาชิกอื่น ๆ ในประชาคมนานาชาติ
รวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ
ได้เรียกร้องให้มีการคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว
แต่ถึงบัดนี้
ประชาธิปไตยกลับดูห่างไกลออกไปกว่าเดิม
ประชาธิปไตยมีข้อดีอย่างไร
เราไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตยเพราะ
ต้องการบังคับใช้ระบบการเมืองแบบตะวันตกกับใคร แต่เราสนับสนุนประชาธิปไตยเพราะ
ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนำมาซึ่ง
ประโยชน์มากมายต่างหาก
ในระบอบประชาธิปไตย
ทุกคนล้วนมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกัน
ในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง
หรือแม้กระทั่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้น
ประชาธิปไตยจึงมอบอำนาจในระดับหนึ่ง
ให้ประชาชนในการตัดสินใจต่าง ๆ
ที่มีผลต่อชีวิตของพวกเขา หากประชาชนสามารถมีส่วนร่วม
ในการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและยุติธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างสันติ
และเป็นไปตามกำหนดเวลา ก็มีโอกาสน้อยลง
ที่พวกเขาจะหันไปใช้ความรุนแรง
เพื่อแก้ปัญหาขัดแย้งหรือเพื่อแสดงความคิดเห็น
ที่ใดที่ค่านิยมประชาธิปไตยได้รับการเชิดชู
ที่นั่นย่อมมีความเจริญรุ่งเรือง
และความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงต่าง ๆ
ย่อมมีน้อยที่สุด
ในระบอบประชาธิปไตย
ประชาชนมีสิทธิ์เลือกผู้นำได้เอง ดังนั้น รัฐบาลประชาธิปไตยจึงต้องตอบสนองความต้องการ
และความคาดหวังของประชาชน
หากอยากได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง
ในประเทศที่ไร้ประชาธิปไตย เป็นการง่ายที่รัฐบาลจะให้ความสนใจ
กับประโยชน์ส่วนตนมากกว่าจะบริหารประเทศ
เพื่อประโยชน์ของพลเมือง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยทำให้เกิด
การแบ่งสรรปันส่วนทรัพยากร
และการเข้าถึงอำนาจอย่างเป็นธรรมมากกว่า
รัฐบาลประชาธิปไตยถูกกำหนดให้ต้องมีความรับผิดชอบ เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง
ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ
และการกระทำของตน เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสในการคอร์รัปชันจึงลดลง นอกจากนี้
ประชาธิปไตยยังกำหนดให้รัฐบาล
ต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม
ซึ่งหมายความว่ากฎหมายจะมีผลต่อทุกคน
อย่างเท่าเทียมกัน ไม่เว้นแม้แต่ต่อรัฐบาลเอง หลักนิติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะขณะที่หลักนี้เคารพความต้องการของเสียงข้างมาก แต่ก็ยังปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกบุคคลและกลุ่มเสียงข้างน้อยด้วย
ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เพียงการมีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม เรื่องนี้ชาวอังกฤษเข้าใจดี เพราะเราเองไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำ สิ่งที่เรามีคือรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ประมวลไว้และไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์ อักษร แต่ประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญ ๆ มากกว่า
ยกตัวอย่างเช่นนักการเมือง หลายคนเอาแต่โทษนักการเมือง
และพรรคการเมืองว่าเป็นต้นตอของปัญหา
ทั้งหลายในประเทศ นักการเมืองนั้นมีทั้งดีและไม่ดี เช่นเดียวกับที่ในสังคมย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี แต่พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในระบอบประชาธิปไตย พรรคเป็นผู้นำประเด็นต่าง ๆ ที่เราห่วงใยไปแปรเป็นนโยบายสาธารณะ พรรคเป็นผู้ฝึกอบรมผู้นำทางการเมือง พรรคช่วยทำให้ตัวเลือกในการเลือกตั้งง่ายขึ้นสำหรับผู้ลงคะแนน พรรคช่วยให้ข้อมูลกับผู้เลือกตั้ง และเมื่อตกเป็นฝ่ายค้าน พรรคการเมืองก็เป็นผู้สังเกตการณ์และตรวจสอบการทำงานของพรรครัฐบาล แน่นอนว่าเพื่อให้ระบบทั้งหมดนี้ทำงานได้ดี พรรคการเมืองจำเป็นต้องรักษาความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับชุมชน และคอยฟังเสียงของประชาชนเสมอ นอกจากนี้พรรคการเมืองยังต้องให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ให้ทุกคนเข้าถึง และพรรคต้องสะท้อนสังคมในวงกว้าง
สาระสำคัญของวันประชาธิปไตยสากลของสหประชาชาติในปีนี้คือ "พื้นที่เพื่อประชาสังคม" องค์ประกอบของประชาสังคม (เช่น สื่อเสรี องค์กรการกุศล เอ็นจีโอ องค์กรศาสนา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ) ล้วนมีบทบาทสำคัญในความเป็นประชาธิปไตย ประชาสังคมเป็นเกราะสำคัญช่วยป้องกันอำนาจรัฐที่มากเกินไป เมื่อประชาสังคมเข้มแข็งเพียงพอก็จะสามารถควบคุมรัฐบาลให้มีความรับผิดชอบ และดูแลให้พลเมืองได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อพวกเขา เพราะเหตุนี้ เราจึงเป็นกังวลเมื่อรัฐบาลต่าง ๆ สร้างข้อจำกัดเพื่อควบคุมกิจกรรมของประชาสังคม การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนประการหนึ่ง ในประเทศไทย การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกในรูปแบบที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือการใช้กฎหมายอาญา หมิ่นประมาทเพื่อสร้างความกลัวและป้องกันไม่ให้ประชาชนแสดงความกังวลแม้จะ เป็นไปโดยสมเหตุสมผลเกี่ยวกับการกระทำผิดและการใช้อำนาจโดยมิชอบ
เมื่อกลางปีผมได้เขียนบล็อกเกี่ยวกับการที่อังกฤษได้ฉลองครบรอบ 800 ปีกฎบัตรแมกนา คาร์ตา สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการฉลองครั้งนั้นคือ ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมต้องใช้เวลานานในการหยั่งรากลึก พวกเราในอังกฤษเองก็ยังคงพยายามอยู่อย่างต่อเนื่อง ในอังกฤษเรามีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างเต็มที่เปิดเผย ในประเด็นต่าง ๆ เช่น เรื่องสมาชิกภาพของสภาขุนนาง ซึ่งก็คือวุฒิสภาของอังกฤษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เรายังอภิปรายกันว่าเราควรจะนำระบบเลือกตั้งแบบไหนมาใช้ เรื่องการกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในสหราชอาณาจักร เป็นต้น การปฏิรูปเป็นกระบวนการที่ไม่จบสิ้น ระบบการเมืองต่าง ๆ ควรวิวัฒนาการไปอย่างต่อเนื่องเพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้น ๆ
สิ่งสำคัญคือการมีพื้นที่สำหรับการถกเถียงและคัดค้าน ขณะที่ประเทศไทยกำลังเริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญกันอีกครั้งเช่นนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการอภิปรายอย่างเต็มที่และเสรีในประเด็น ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.