ยินดีต้อนรับ

พลเมืองที่รอบรู้เท่าทัน คือ พลังประชาธิปไตยที่แท้จริง
Well-informed citizens are the true democratic forces.

Friday, February 3, 2012

กระทู้ของประชาชนถึง พณฯ นายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาไทย

ข้างล่างนี้ คือจดหมายที่ได้ส่งผ่านเลขานุการนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปีที่แล้ว
บัดนี้ เรายังไม่ได้รับคำตอบ 
พี่น้องลองทบทวนนะครับ ว่าคำถามเหล่านี้ นักการเมืองสมควรถูกถาม และหัดตอบกันบ้างหรือไม่
นี่คือส่วนหนึ่งของการกระตุ้นการปฎิวัติประชาชน และหากท่านอยากได้แนวคิดเรื่องการปฎิวัติประชาชน
ลองรับฟังคลิปรายการย้อนหลังที่พูดถึงจดหมายฉบับดังกล่าว และชวน "ล้มเจ้า" อย่างสันติ
สามารถกดรับฟังได้เลย โดยไม่ต้องดาวน์โหลดนะครับ



--------------------------------------------------------------------------------------------------------
พณฯ ประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภาทุกท่านThe Thai Alliance for Human Rights
ภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
Website: http://thai-ahr.org        
Email:
president@thai.ahr.org

24  พฤศจิกายน 2554

เรื่อง กระทู้ของประชาชนถึง พณฯ นายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาไทย

เรียน พณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในภาวะที่ประชาชนตื่นตัวเต็มที่่เรื่องประชาธิปไตย โดยเชื่อว่ามันเป็นระบอบการปกครอง ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น การเมืองและการปกครองต้องเป็นไปโดยความเห็นชอบ ของประชาชนส่วนใหญ่ ที่ได้เลือกตัวแทนของพวกเขาไปปฎิบัติหน้าที่แทน  และผลประโยชน์จากการบริหารบ้านเมือง
ใด ๆ ทั้งมวล ต้องเป็นไปเพื่อมวลมหาชนทุกคน ไม่ใช่เพื่อกลุ่มชนหนึ่งใดหรือชนชั้นใด ๆ โดยเฉพาะ  ความตื่นตัวอันเห็นได้ชัดหลังการรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2549 นั้น ปรากฎชัดเจนอย่างไม่ต้องสงสัย จากการที่คนไทยในประเทศไทยและทั่วโลกได้รวมตัวกัน เพื่อมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยมีการศึกษา แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกันต่อเนื่องมานับครึ่งทศวรรษ  และนั่นเป็นที่มาของคำถาม ที่่พี่น้องไทยในนามกลุ่มภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (The Thai Alliance for Human Rights) และพี่น้องไทยในเครือข่ายสังคมอินเตอร์เน็ต (social networks) ที่จักขอถามเป็นกระทู้ให้ท่านนายกรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำถาม ได้ร่วมกันตอบหรือถกเถียงเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางสำหรับการแก้ปัญหาของประเทศชาติที่เรื้อรังและเป็นพิษร้ายอันรุนแรงมาถึงปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ระบอบประชาธิปไตย ในความหมายของท่านผู้ทรงเกียรติ หมายถึงอะไร ตรงกับคำนิยามของพวกเราหรือไม่ ที่ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน การใช้อำนาจต้องเป็นไปอย่างชอบธรรม โดยตัวแทนของประชาชนเท่านั้น และจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของปวงชนทุกหมู่เหล่า  ทั้งนี้ จักต้องอยู่ บนหลักการแห่งการเคารพเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน บนความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์ ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และการสร้างสันติสุขแห่งหมู่ชน ด้วยวิถีแห่งภราดรภาพ

สอง การรัฐประหาร และการใช้อำนาจทางตุลาการล้มล้างอำนาจบริหารและนิติบัญญัติของประชาชน เป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่ สังคมไทยควรยอมรับให้มีการก่อการรัฐประหารและตุลาการภิวัฒน์ดังที่เป็นมาอีกหรือไม่  หากไม่ พวกท่านจะสร้างหลักประกันใด ๆ ว่าสองสิ่งนี้ จะไม่เกิดขึ้นอีกเป็นอันขาดในปัจจุบันและอนาคตของประเทศไทย

สาม หากเกิดกิจกรรมอันไม่เป็นประชาธิปไตยสองข้อดังกล่าวในข้อสอง แล้วกษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ท่านจะทำประการใด และจะทำให้สิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยสองสิ่งนี้ พ้นจากการเป็นมลทิน อันแปดเปื้อน สถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างไร

สี่ กฎหมายระดับต่าง ๆ ที่ คมช. ได้ร่างขึ้นหลังการรัฐประหาร และองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่ถูกแต่งตั้งตามกฎหมายดังกล่าว เป็นกลไกที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ใช่หรือไม่  และพวกท่านคิดจะทำประการใดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่ขัดกับหลักในคำถามข้อหนึ่ง และองค์กรที่มีที่มาจากขบวนการรัฐประหารทั้งหลาย จะทำเมื่อใด และอย่างไร

ห้า กฎหมายอาญา มาตรา 112  เป็นกฎหมายที่มีปัญหาในเชิงหลักการที่ขัดกับหลักความเสมอภาค และการมีเสรีภาพด้านต่าง ๆ ตามหลักสากลแห่งสิทธิมนุษยชน อันเป็นสิ่งที่ได้รับการประกันไว้ ทั้งในระดับสากล และในรัฐธรรมนูญของไทย  แถมยังมีปัญหาในเชิงปฎิบัติ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เอง และต่อประชาชนที่แสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย ตามหลักการที่ระบุไว้ในคำถามข้อที่หนึ่ง  แถมความรุนแรงของการลงโทษ กลับหนักกว่าคดีอาญาทั่วไปยิ่งนัก แม้แต่ชายชราวัยนับเจ็ดสิบปี ก็ถูกพิพากษาจำคุกนับ 20 ปี โดยไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดีเลย  และแทบทุกคนที่ต้องข้อกล่าวหามาตรานี้ มักไม่ได้รับการประกันตัว  พวกท่านคิดจะทำประการใดกับกฎหมายอาญามาตรานี้รวมถึงัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งหลาย อันขัดกับหลักเสรีภาพและความเสมอภาคตามคำนิยามสากลของระบอบประชาธิปไตยข้างต้น

หก ประเทศไทยสมควรลงสัตยาบรรณ เพื่อยอมรับให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) มีสิทธิในการพิจารณาคดีความที่เกี่ยวกับการละเมิดทางอาญาต่อชีวิตและทรัพย์สินมหาชน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแอบอ้างใช้อำนาจรัฐออกมาฆ่าฟันประชาชนได้โดยไม่ถูกชำระสะสางโทษได้อีก พวกท่านเห็นด้วยหรือคัดค้าน เพราะเหตุใด

เจ็ด หลักกฎหมายอาญาตามมาตรฐานสากล ระบุว่า ทุกคนมีิสิทธิพื้นฐานในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และอย่างยุติธรรม โดยไม่ถูกให้รับโทษเสมือนผู้กระทำผิดที่ถูกตัดสินครบกระบวนความแล้ว คือให้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน  และด้วยเหตุนี้ การประกันตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยประกันสิทธิพื้นฐานดังกล่าว  ทำไมในประเทศไทย ยังมีคดีความที่ผู้ถูกกล่าวหา ไม่ได้รับการประกันตัวจำนวนมากมาย ในฐานะผู้แทนของปวงชน ท่านคิดเห็นอย่างไร และจะทำประการใด

แปด น้ำท่วมประเทศในปี 2554 นี้ ประชาชนจำนวนมากเชื่อว่า มีข้อมูลมากพอจะระบุได้ว่า มีขบวนการทำให้น้ำท่วม อันเป็นการก่อการร้าย และฆาตกรรมชีวิตผู้คนเกินครึ่งพัน และ่ทำให้เกิดความเสียหาย อันมหาศาลที่สุด ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ภัยพิบัติของประเทศ  พวกท่านจะดำเนินการประการใด เพื่อให้มีการสอบสวนหาผู้มีส่วนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ แล้วมีการลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองให้ถึงที่สุด

เก้า  การแก้ปัญหาด้วยการขออภัยโทษ เป็นสิ่งที่ดีสำหรับกรณีความผิดเล็กน้อยหรือการถูกใส่ร้ายทางการเมือง โดยที่ประชาชนผู้ใฝ่หาประชาธิปไตย ด้วยวิถีที่ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญและหลักสากลนั้น ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างชัดเจน  แต่การก่อการกบถด้วยการล้มรัฐธรรมนูญของประชาชน การที่ผู้มีอำนาจและผู้ใช้อำนาจรัฐกระทำการผิดพลาด จนทำให้ประชาชนถูกฆ่าายอย่างโหดเหี้ยมนั้น เป็นสิ่งที่เลวร้ายเกินจะปล่อยให้จบไปโดยไม่มีการชำระสะสางคดี และไม่ควรได้รับการอภัยโทษอย่างยิ่ง  รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ มีนโยบายอย่างไรต่อคดีความที่เกี่ยวเนื่องด้วยฆาตกรในสายตามวลชน อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายทหารที่มีส่วนฆ่าฟันประชาชน แกนนำพันธมิตรที่ยึดทำเนียบและสนามบิน ตลอดจนบรรดาผู้ก่อการร้ายชุดดำที่ถูกกล่าวหาแต่จับตัวมิได้โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์

ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีอากรทั้งทางตรงและทางอ้อม  และในฐานะพลเมืองที่รักในประเทศไทย พวกเราขอให้ พณฯ นายกรัฐมนตรี และพณฯ ประธานสภา ได้ดำเนินการให้มีการตอบคำถามของประชาชนผู้ลงนามต่อท้ายจดหมายฉบับนี้ และผู้ที่ลงนามสนับสนุนจดหมายฉบับนี้ ไว้ ณ http://thai-ahr.org/petitions/ ในวันเวลาที่เหมาะสมอันใกล้นี้  พวกเราจะรอคอยคำตอบจากพวกท่านผ่านสื่อสารมวลชนต่าง ๆ ด้วยใจจดจ่อ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

ภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้ลงนามต่อท้าย ณ http://thai-ahr.org/petitions/

No comments:

Post a Comment