มิตรสหายร่วมอุดมการณ์ท่านหนึ่ง เขียนฝากมา
ลองพิจารณาดูนะครับ ... น่าคิดและน่าสนใจครับ
แนวคิดทางด้านการเมืองการปกครอง
1. การปรับปรุงอำนาจกษัตริย์ให้ปลอดพ้นจากการเมือง
• ขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ จะเห็นสมควร ว่าจะยังคงมีกษัตริย์ดำรงอยู่หรือไม่
• ถ้าประชาชนยังเห็นว่าควรมีกษัตริย์คู่บ้านเมืองอยู่ ต้องทำให้ไม่มีระบอบที่กษัตริย์เข้ามามีส่วนทางการเมืองโดยเด็ดขาด
• ตลอดจนเรื่องการจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์และราชวงค์ ต้องไม่มีการทำธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม
• องคมนตรีและกองกำลังรักษาพระองค์ขึ้นอยู่กับรัฐสภา เป็นผู้กำหนด
2. การป้องกันการปฏิวัติยึดอำนาจ ตลอดจนการสืบทอดอำนาจโดยทหาร
• ให้ตำแหน่ง ผบ สูงสุด ผบ เหล่าทัพ ทุกเหล่าทัพ มาจากคณะกรรมการสรรหา เป็นผู้ส่งรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติสมควรได้รับการคัดเลือกให้กับสภา และผู้ที่มีคุณสมบัติตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมาต้องแสดงวิสัยทัศน์ต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาลงมติเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ตำแหน่งเหล่านี้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
• คณะกรรมการสรรหามาจาก ตัวแทนเหล่าทัพต่างๆ 3 คน ตัวแทนกรมการปกครอง 2 คน รัฐสภา 5 คน
• ย้ายค่ายกรมกองทหารออกจากเมืองหลวง ป้องกันการเคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธเข้าเมืองหลวงโดยพลการ
• แก้กฏหมายเกี่ยวกับประกาศกฎอัยการศึก ให้ไม่สามารถประกาศได้โดยกองทัพ แต่ให้ประกาศได้โดยนายกรัฐมนตรี หรือรัฐสภา
3. การควบคุม องค์กรตำรวจ ให้เป็นองค์กรที่รับใช้และดูแลประชาชน ลดการซื้อขายตำแหน่ง ขูดรีดประชาชน
• แบ่งตำรวจเป็น ส่วนๆ เช่น ตำรวจเมืองหลวง ตำรวจภาคต่างๆ 4-5 ภาค
• ให้ตำแหน่ง หัวหน้าตำรวจเมืองหลวง และตำรวจภาคต่างๆ มาจากคณะกรรมการสรรหา เป็นผู้ส่งรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติสมควรได้รับการคัดเลือกให้กับสภา และผู้ที่มีคุณสมบัติตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมาต้องแสดงวิสัยทัศน์ต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาลงมติเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ตำแหน่งเหล่านี้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
• คณะกรรมการสรรหามาจาก ตัวแทนตำรวจภาคต่างๆ ภาคละ 1 คน ตัวแทนกรมการปกครอง 2 คน รัฐสภา 5 คน
4. การควบคุมพรรคการเมืองและนักการเมือง
• ป้องกัน นายทุนหรือกลุ่มทุนครอบงำพรรคการเมือง โดยบริจาคเงินเข้าพรรคได้ในนามบุคคล กลุ่มบคคล นิติบุคคล หรือในนามใดๆ ได้ ไม่เกิน 2 ล้านบาท ต่อปี และบุคคลผู้บริจาคต่างๆ ต้องไม่มีชื่อซ้ำซ้อนกันกับในกลุ่มอื่น
• มีวาระการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่เกิน 2 สมัย เพื่อป้องกัน สส มาเฟีย ครอบงำพรรค และการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค ต้องเป็นการคัดเลือกจากสมาชิกพรรคโดยทั่วไปอย่างทั่วถึง ไม่ใช่เลือกกันเฉพาะในกลุ่มผู้มีอำนาจในพรรคเท่านั้น
• การดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ของนักการเมือง ตลอดจนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ต้องไม่เกิน 2 สมัย
5. การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการดูแลใช้อำนาจรัฐ ของรัฐบาล
• การออกกฏหมายและการออกนโยบายสาธารณะใดๆ หรือนโยบายต่างๆที่ต้องใช้เงินที่มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท ที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม หรือต่อสังคม หรือต่อประเทศชาติ หลังจากผ่านการลงมติในสภาแล้วรัฐต้องจัดให้มีการทำประชามติก่อนออกเป็นนโยบายหรือออกเป็นกฏหมาย เช่น กฏหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง นโยบายการจัดการน้ำทั้งระบบ นโยบายด้านการคมนาคมรถไฟความเร็วสูง นโยบายการรับจำนำข้าว เป็นต้น
• การลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐต้องให้ประชาชนลงประชามติด้วย ถ้าไม่ผ่านประชามติรัฐต้องคืนอำนาจให้ประชาชน เพราะถือว่ารัฐไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน
6. การดูแลป้องกันการผูกขาดทางการค้า ผูกขาดทางด้านทุนนิยม นายทุนการเงิน นายทุนอุตสาหกรรม ผูกขาดทางด้านการครอบครองทรัพยากรของชาติ
• รัฐต้องจัดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม ไม่ปล่อยให้มีกลุ่มทุนผูกขาดเอาเปรียบเพราะอำนาจเงิน เช่น ปล่อยให้ 7 eleven ขายสินค้าทุกชนิดได้ 24 ชั่วโมง เปิดตรงทำเลไหนก็ได้ เป็นการทำลาย ร้านค้ารายย่อย โดยรัฐไม่มีนโยบายใดๆ หรือออกกฏหมายใดๆ ที่จะทำให้ร้านค้ารายย่อยเหล่านั้นสามารถพัฒนาแข็งขันกับ กลุ่มทุน 7 eleven ได้ เป็นต้น ยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่ได้ยกตัวอย่างมา
• รัฐต้องมีกฏหมายจำกัดการถือครองที่ดิน การใช้ประโยชน์ในที่ดิน ไม่ให้ตกไปอยู่กับบุคคล คณะบุคคล นายทุน หรือกลุ่มทุน หรือกลุ่มทุนบริษัทข้ามชาติต่างๆ ต้องจัดสรรที่ดินทำกิน ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้กับประชาชน
7. กระบวนการยุติธรรม
• ที่มาของตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง องค์กรอิสระ ต้องมีคณะกรรมการคัดเลือกที่มาจากประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกอยู่ด้วย เมื่อคัดเลือกแล้วต้องแสดงวิสัยน์ทัศน์ให้สภาลงมติคัดเลือกอีกครั้ง
• การทำคดีเกี่ยวกับการ ทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูง คดีการเมือง หรือคดีที่มีผลเสียหายถึงระดับที่กำหนดเป็นเกณฑ์ไว้ ต้องมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ปล่อยหมดอายุความผู้รับผิดชอบคดีต้องมีความผิด
• รัฐต้องจัดให้มีทนายหรือตัวแทนคุ้มครองสิทธิมนุยชนประจำอยู่ทุกสถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักประกันและป้องกันการละเมิดต่อบุคคลที่ถูกจับกุมกล่าวหา หรือถูกกระทำรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
อีกเรื่องหนึ่ง คุณชูวิทย์โพสต์ไว้ที่เฟสบุ๊ค
นักการเมือง (อีแอบ) อาทิตย์ที่จะถึงนี้ สปช. จะโหวตร่างรัฐธรรมนูญ เดินหน้าตามโร้ดแม็พไปสู่การลงประชามติ ฝั่งหนึ่งเห็นว่าดีว่างาม เสมือนเป็นดวงดาวเจิดจรัสเปิดทางปฏิรูปประเทศไทย อีกฝั่งหนึ่งมองเป็นโคลนตม ไร้ราคา พาประเทศชาติถอยหลังลงคลอง ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นักการเมืองมักตกเป็นจำเลย ของอย่างนี้ว่ากันไม่ได้ เพราะบรรดานักการเมืองทำตัวเอง กล้าทำก็ต้องกล้ารับ ทุกคนล้วนเสนอตัวอาสามาทำงานผ่านการเลือกตั้งของประชาชนและกฎเกณฑ์สารพัด แต่มีอีกจำพวกหนึ่ง เป็นนักการเมืองอีแอบ ไม่ต้องอาศัยกฎเกณฑ์ ได้ดิบได้ดีทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร โดยการเข้าหาขั้วอำนาจ ณ ขณะนั้น เชียร์ตะบี้ตะบัน เลียทุกเรื่อง ยกยอน้ำลายสอ ปั้นน้ำเป็นตัว เพื่อให้ตัวเองดำรงอยู่ในวงจรอำนาจ ตอนนี้มีพวกใหม่ผุดขึ้นมาอีก เป็นจำพวกที่สองของอีแอบ เคยเป็นนักการเมือง แต่แสร้งทำว่าไม่เล่นการเมืองแล้ว ทั้งที่ในอดีตมีคุณสมบัติเป็นนักการเมืองชั้นเลว 101% แต่ทำเป็นลาออกชุบตัวในน้ำทะเล แล้วเป็นแกนนำ "เครื่องมือการเมือง" (Political Tools) ให้แก่พรรคการเมือง หรือศูนย์อำนาจการเมือง เสมือนหนึ่งเป็นกองโจร รบแบบไร้รูปแบบ ทำงานได้อิสระ ปล้นดะ ไร้วินัย ทั้งสองจำพวกนี้ไม่ได้ดีไปกว่านักการเมืองเลย หากนักการเมืองเลว ยังเลวในระบบ มีกฏเกณฑ์ที่ต้องระมัดระวัง แต่พวกเลวนอกระบบ สันดานอยากทำอะไรก็ทำ ได้คืบจะเอาวา เป็นสัมภเวสีเร่ร่อนเหมือนเจ้าไม่มีศาล ฉกฉวยหยิบกินของเซ่นไหว้ ไม่เคยเห็นหน้าตอนเลือกตั้ง แต่ไม่เคยห่างหายจากการเมือง รัฐธรรมนูญยังไม่ได้จำกัดห้ามคนจำพวกนี้เอาไว้ อย่างนี้น่ากลัวกว่ากันแยะ ประชาชนโปรดระวังเอาไว้เถิด |
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.