ยินดีต้อนรับ

พลเมืองที่รอบรู้เท่าทัน คือ พลังประชาธิปไตยที่แท้จริง
Well-informed citizens are the true democratic forces.

Monday, March 2, 2015

ทำไมต้อง เสรีประชาธิปไตย?

Originally Posted on by

ทำไมต้อง เสรีประชาธิปไตย?

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทย วันนี้ขอเข้าเรื่องเลยนะครับ หลังจากตั้งสติ หยิบขลุ่ยในหัวใจมาเป่าด้วยความคิดถึงบ้านเกิดและกังวลต่อสถานการณ์ความ ตกต่ำของประเทศ ก็เลยบรรเลงไปตามนิ้วของหัวใจสั่ง ในที่สุดก็มาลงเอยที่บทเพลงพื้น ๆ ที่บรรยายธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ในสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะขอบรรเลงด้วยทำนองธรรม ที่เป็นสัจจะ เป็นสิ่งที่ต้องเกิดตามภาวะเงื่อนไข ตามกฎแห่งกรรม เพื่อให้เราเข้าใจปัญหาร่วมกันว่า ทำไมเมืองไทยเราจึงวุ่นวายกันในช่วงสามสีปีหลังนี้ อย่างไม่เคยคาดคิดกันมาก่อนด้วยซ้ำ

คนเราตั้งแต่ เกิดมาวินาทีแรก เราก็ได้รับสิทธิพื้นฐานหลาย ๆ อย่าง โดยมีเสรีภาพด้วยนะครับ เช่น เสรีภาพในการแหกปากร้องตั้งแต่โผล่หัวมาทักทายโลก และก็ไม่เคยมีหมอพยาบาล หรือหมอตำแยคนไหนเอามือปิดปากไม่ให้ร้อง ปิดหูไม่ให้ได้ยิน หรือปิดตาไม่ให้เปิด อันที่จริง พ่อแม่พี่น้อง ต่างเฝ้ารอจะให้เราแสดงอาการทุกอย่างของประสาทสัมผัสเสียด้วยซ้ำ เวลาหิวนม เราก็มีสิทธิแสดงออกให้คุณแม่เปิดนมให้ดูดดื่ม เวลาคันเปียก เราก็มีสิทธิดิ้น เพื่อส่งสัญญาณให้พ่อแม่รับทราบ นี่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เรา เกิดมาพร้อมกับเสรีภาพ เกิดมาพร้อมกับสิทธิที่จะทำในสิ่งที่ร่างกายและความรู้สึกมันต้องการ และนี่แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้น เกิดมาพร้อมกับเสรีภาพและสิทธิพื้นฐานเลยทีเดียว

ยามเป็นเด็กเล็ก เราก็ได้รับสิทธิพื้นฐานในการเป็นคน ที่ควรจะมีอาหาร เสื้อผ้า ที่พักพิง และยารักษาโรคยามป่วยไข้ และกฎหมายก็ประกันสิทธิให้เราได้รับการเลี้ยงดูอบรม ได้รับการศึกษาสมความเป็นคน สมกับที่เราเชื่อแลพูดกันติดปากว่า เด็ก ๆ เป็นอนาคตของชาติ เด็กดีเป็นศรีของชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ

แนวคิดการตอบสนองต่อสิทธิพื้นฐานและการให้เสรีภาพ คือไม่มีการจำกัด บีบคั้น ปิดกั้นในการได้รับสิทธิเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสร้างชาติ สร้างอนาคต หากเด็กแต่ละคน เติบโตสมบูรณ์ทางกาย มีสติปัญญาที่พัฒนาสมวัย มีจิตสำนึกที่มีธรรม และมีความรู้ความสามารถที่เป็นคุณกับบ้านเมือง ก็จะทำให้ประเทศชาติเจริญได้ และเราจะเห็นได้ว่า เมื่อประชาชนแต่ละคนได้รับสิทธิเสรีภาพ จนเกิดการพัฒนาการในทุก ๆ ด้านที่ดีแล้ว ประเทศชาติส่วนรวมก็จะพัฒนาไปด้วย นี่เป็นแนวคิดของระบอบการปกครองแทบทุกระบบ คือ พลเมืองที่มีคุณภาพ หมายถึงประเทศชาติจะมีคุณภาพตามไปด้วย แต่มันต่างกันตรงที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยนั้น เน้นให้แต่ละบุคคล หรือประชาชน มีสิทธิเสรีภาพในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด และใช้อำนาจนั้น ด้วยตัวเองโดยตรงหรือผ่านผู้แทนก็ได้ และผลประโยชน์ของการใช้อำนาจนั้น ต้องเน้นที่การรับใช้ประชาชนเจ้าของอำนาจเป็นหลัก ซึ่งต่างกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินหรือพระราชา เป็นเจ้าของอำนาจ ใช้อำนาจได้ตามสะดวกแบบเด็ดขาด และจะให้ผลประโยชน์เพื่อใครก็แล้วแต่เขาจะกำหนดกดตราเอาไว้ ประชาชนก็ไม่ได้มีความเป็นคนเท่าเทียม ดังได้เห็นมาแล้วในการปกครองของไทยโบราณ ไล่มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จะว่าถึงยุครัชการที่เจ็ดเลยก็ได้ ส่วนอีกระบอบหนึ่ง คือระบอบคอมมิวนิสต์ อันนี้ถือว่า อำนาจนั้นเป็นของพรรคที่เป็นผู้แทนและใช้อำนาจแทนประชาชนทุกคน คอยทำหน้าที่จัดการทุกอย่าง เพื่อให้ทุกคนรับใช้ซึงกันและกัน และได้รับผลการงอกงามของการทำงานร่วมกันอย่างยุติธรรม

แต่ปัญหาของ ระบอบพระเจ้าแผ่นดินเป็นใหญ่นั้น มันอยู่ที่การไม่ถือว่าประชาชนเป็นคน ที่มีสิทธิเท่าเทียมกันทั้งแผ่นดิน กษัตริย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้น สมัยก่อน แม้แต่ปลูกต้นหมากไว้เคี้ยวกิน ก็ต้องเสียภาษีเข้าหลวง และการรีดนาทาเร้นก็ทำกันเป็นลำดับศักดินา (คือใครทำดี รับใช้และเป็นที่ไว้ใจของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ได้ศักดิ์เป็นที่นาตามนั้น) ดังนั้น จึงมีผู้ที่ได้สิทธิพิเศษกันมาตามลำดับ ไม่ว่าเจ้าขุนมูลนาย เวียงวังคลังนาทั้งหลาย รวมมาถึงพวกพ่อค้าวาณิชย์ ที่ฉลาดในการรับหน้าที่ไปรีดภาษีจากประชาชน แล้วกินส่วนต่าง หรือรับสัมปทานรีดภาษีและถืออำนาจปกครองประชาชนในนามพระเจ้าแผ่นดิน อันนี้จึงเป็นระบอบการปกครองที่ทำให้เกิดความแตกต่างของชนชั้น ทำให้เกิดการกดไม่ให้คนรากหญ้ามีโอกาสลืมตาอ้าปาก แม้แต่แรงงานของตนก็ยังเป็นสิทธิของเขาอื่น คือหลวงจะเกณฑ์แรงงานเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้เกิดการข่มเหงน้ำใจของคนที่ไม่มีอำนาจ เช่น ใครมีลูกสาวหรือพี่สาวน้องสาวหน้าตาดี ๆ ก็ยังอาจจะต้องถูกเรียกตัวไปบำเรอรับใช้เจ้านายระดับต่าง ๆ ที่อยู่เหนือหัวเหนือเกล้าของตน ระบอบการปกครองแบบนี้ มันผิดหลักที่กล่าวมาข้างต้น ว่าคนเราเกิดมาพร้อมกับความจำเป็น ความต้องการ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐาน การปกครองแบบคนตระกูลหนึ่งเป็นใหญ่ แล้วกดให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นทาสรับใช้ เป็นขี้ข้า เป็นไพร่ และเป็นทุกอย่างที่ขัดกับหลักพื้นฐานความเป็นมนุษย์นี้ จึงอยู่ได้ไม่จีรังยั่งยืน ล้มหายตายสูญไปเป็นค่อนโลก ที่เหลืออยู่ก็ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่

ส่วนการปกครอง แบบคอมมิวนิสต์นั้นเล่า หลักการดูเหมือนดี คือ ทุกคนต้องช่วยกันทำทุกอย่างที่ทำได้ แต่จะได้ส่วนแบ่งเกินงามไม่ได้ แทบทุกอย่างต้องเอามาเข้ากองกลาง เพื่อจะได้ไม่มีใครเอารัดเอาเปรียบใคร การพัฒนาจะได้มีเป้าหมาย และพลังของประชาชนจะได้ถูกนำมาใช้เพือความก้าวหน้าร่วมกัน การสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่อย่างเข้มแข็ง สังเกตุว่า ระบอบการปกครองแบบนี้ ใช้กับประเทศที่ใหญ่ และมีการแบ่งแยกของพลเมืองที่ยากแก่การปกครอง และจัดสรรทรัพยากร เช่น จีน รัสเซีย และคิวบาเป็นต้น แต่เท่าที่ผ่านมาการปกครองแบบนี้ล้มเหลว ที่เหลืออยู่ทั้งรัสเซีย และจีน ตลอดจนประเทศเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ถูกทำให้เป็นคอมมิวนิสต์อย่างเวียตนาม และลาว ต่างต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ จนแทบจะไม่เหลือค่านิยมดั้งเดิมของระบอบนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้ก็เพราะระบอบนี้มันมีปัญหาตรงที่ทำให้คนดีและเห็นตรงกันไม่ได้ ผู้นำที่รักษาผลประโยชน์ให้พรรคเอง ก็ไม่สามารถหลีกพ้นความเป็นมนุษย์ที่มีกิเลสตัณหาได้ และที่สำคัญที่สุด มันขัดกับหลักการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่อยากมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตอย่างเสรี ไม่มีใครมากำหนดกดขี่เกินกรอบกฎหมายที่เน้นความเป็นธรรมและการเคารพสิทธิ พื้นฐานของความเป็นมนุษย์เช่นในระบอบเสรีประชาธิปไตย และที่สำคัญสูงสุดก็คือ สิทธิในการที่ทำกิจการงานต่าง ๆ เพื่อเติบโตและร่ำรวยมั่งคั่ง ตามความขยัน มันสมอง ความถนัด และโอกาสที่สร้างขึ้นได้ด้วยตัวเอง ในกรอบการสนับสนุนและดูแลของรัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนของตนเอง ในเมื่อระบอบคอมมิวนิสต์ถือพรรคและความก้าวหน้าของส่วนรวมเป็นใหญ่ หากคุณทำประโยชน์มาก ประโยชน์ก็เข้าส่วนรวมมาก ซึ่งน่าจะดีต่อส่วนรวม แต่ปัญหาก็คือ หากคุณทำงานสร้างมูลค่าได้ร้อยล้านบาทต่อปี แต่บางคนทำแบบไม่ต้องใช้แรงกายแรงสมองมาก อาจจะผลิตบางสิ่งบางอย่างในมูลค่ารวมแค่หมื่นบาทต่อปี แล้วสิ่งที่คุณทำได้เยอะ ๆ น่ะ มันตกเป็นของกลาง เสียเกือบหมด คนจึงขาดแรงจูงใจในการทำดี คิดดี และสร้างตัวให้ดี ระบอบคอมมิวนิสต์ จึงไม่สามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างดีพอ สู้กับประเทศเสรีประชาธิปไตย ที่เน้นให้คนมีเสรีภาพและสิทธิในการดำเนินการผลิตและบริการในกรอบการแข่งขัน ทำให้คนเกิดแรงจูงใจ อยากทำ อยากสร้าง และอยากเติบโตมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยมือและสมองของตนนั้น ไม่ได้เลย
ทุกประเทศทั่ว โลกมีปัญหากันทั้งนั้นแหละครับ แต่จะมากน้อยแค่ไหน ต่างกันในรายละเอียด แต่หากมองในแง่คุณภาพชีวิตแล้ว เห็นได้ชัดว่า ประเทศทีเป็นเสรีประชาธิปไตย โดยเฉลี่ยแล้วจะมั่งคั่งกว่า สงบกว่า และคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น แม้ว่าจีนจะกำลังพัฒนา แต่สภาพโดยรวมทั่วประเทศยังล้าหลังอยู่มาก และที่พัฒนาได้เร็ว ก็เพราะหันมาใช้ระบอบทุนนิยมเสรีที่ให้สิทธิประชาชนในการค้าขายและบริหาร ชีวิตตนเองมากขึ้น ส่วนประเทศที่มีกษัตริย์นั้น ที่พัฒนาแล้วและดูดี สถาบันกษัตริย์ปรับตัว ไม่เอาเปรียบประชาชน และเอาตัวสถาบันฯ ออกห่างเสียจากความวุ่นวายทางการเมือง เช่น อังกฤษ สวีเดน และญี่ปุ่น ซึ่งว่าไปแล้ว เขาก็กลายเป็นเสรีประชาธิปไตยแล้วนั่นเอง ประเทศอื่น ๆ ที่มีกษัตริย์แล้วร่ำรวยได้ ก็ส่วนใหญ่เป็นเพราะโชคดีมีน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติเสียเป็นหลัก ไม่ใช่เพราะกษัตริย์หรือผู้ปกครองที่มีอำนาจดังเทวดาเหนือผู้คนทั่วไปเป็น ผู้บริหารให้บังเกิดผลขึ้น

ประเทศไทยเรา นั้น อ้างชื่อกันว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย เพราะเรายังเอาอำนาจสูงสุดทั้งสามของประชาชน ไปผ่านขั้นตอนที่บังคับในรัฐธรรมนูญให้พระมหาษัตริย์ต้องลงพระปรมาภิไธย ในการสร้างกฎหมายทั้งหมด (ฝ่ายนิติบัญญัติ) การแต่งตั้งและปฎิบัติงานของผู้แทนประชาชนที่ไปทำหน้าที่รัฐบาลและกลไกต่าง ๆ ในการปกครอง (ฝ่ายบริหาร) และการแต่งตั้งและลงพระปรมาภิไธยรับรองการทำงานของศาล (ฝ่ายตุลาการ) การที่ทุกอำนาจถูกนำไปผูกกับสถาบันฯ นี้เอง เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นระบอบการปกครองที่ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย และเป็นที่มาของปัญหายุ่งเหยิงกันมาตลอด จนทำให้กฎหมายทั้งที่สูงสุด คือรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกทั้งหลาย ถูกคณะปฎิวัติรัฐประหาร ถูกล้มล้างแบบไร้ค่า แล้วก็เขียนขึ้นมาใหม่โดยผู้ที่บังอาจยึดอำนาจการปกครองจากประชาชนไป นี่ทำกันมาเกือบยี่สิบครั้งแล้วนะครับ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี 2475 เฉลี่ยแล้ว กฎหมายสูงสุดที่เป็นใหญ่เหนือกฎหมายทั้งปวงนี้ ถูกเขียนทับหรือฉีกทิ้งแล้วเขียนใหม่สี่ปีครั้งเลยนะครับ ทั้งที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาใช้อันเดิมโดยไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารเลย เป็นเวลาเกินร้อยปี!!! และใครจะปฎิวัติรัฐประหารก็ทำไม่ได้นะครับ เพราะไม่มีใครจะรับรองให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ ในแง่นี้ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเหมือนถูกนำไปวางไว้ตรงขั้วอำนาจ หากจะมีใครขโมยอำนาจจากประชาชน จึงต้องมีการโยนเผือกร้อนไปให้พระมหากษัตริย์ และผู้คนก็คงอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมมันเกิดบ่อยจัง และพระมหากษัตริย์ทรงเห็นด้วยกระนั้นหรือ? ซึ่งเป็นคำถามที่ต้องถามกัน ความชัดเจนว่า อำนาจในการตรากฎหมาย อำนาจในการให้ตัวแทนประชาชนไปตรากฎหมายนั้น สามารถถูกล้มล้างด้วยกลุ่มที่ใช้กำลังเข้าปล้น แล้วเอาลายพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์เข้าสำทับให้เป็นรัฐถาธิปัตย์ได้ กระนั้นหรือ?

สิ่งที่เกิดขึ้น ในระยะสองสามปีหลังนี้ มันยุ่งเหยิงมาก เพราะประชาชนเริ่มรู้สึกชัดขึ้น ว่าอำนาจของพวกเขา ซึ่งพวกเขาเป็นเจ้าของ และให้ตัวแทนที่เขาเลือกขึ้นไปใช้ ทั้งในการตรากฎหมาย การบริหารประเทศ และการทำหน้าที่สร้างความยุติธรรมนั้น ได้ถูกทำลายลงไป โดย

· เริ่มต้นตั้งแต่การล้มล้างรัฐบาลที่พวกเขาเลือกเข้าไปทำหน้าที่สร้างการ อยู่ดีกินดีและการสร้างโอกาสในการเติบโตก้าวหน้าอย่างมีศักดิ์ศรีสมความเป็น มนุษย์ที่ไม่ใช่ทาส ไม่ใช่ไพร่ ไม่ใช่คนที่ด้อยค่ากว่าใครในสังคม
· การล้มพรรคการเมืองที่พวกเขาร่วมกันก่อตั้ง โดยคนไม่กี่คนที่ถูกตั้งขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญฉบับที่พวกเขาถูกยัดเยียดให้
· ล้มรัฐบาลที่พวกเขาเลือกขึ้นมาด้วยข้อหาที่น่าหัวเราะต่อชนทั่วโลก เช่นกรณีนายกสมัคร ที่พ้นตำแหน่งด้วยข้อหาทำกับข้าวออกโทรทัศน์ ซึ่งน่าจะเป็นตลกประชาธิปไตยที่ตลกที่สุดในจักรวาลเลยกระมัง
· การตัดสินคดีความที่ค้านสายตาพวกเขา โดยมักลำเอียงออกไปในทางให้คุณกับคนบางกลุ่มที่ประชาชนไม่ได้สนับสนุน หรือทำการร่วมหรือเป็นคุณกับฝ่ายปล้นอำนาจ แล้วเกาะตัวกันเป็นผู้สร้างสถานการณ์อันขัดกับหลักกฎหมายบ้านเมือง แต่ได้รับการคุ้มครองจากผู้ใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายแบบโจ่งแจ้ง ในขณะที่พยายามเอาผิดใส่ร้ายฝ่ายประชาชนที่เรียกร้องความเป็นธรรม จนผู้คนมากมายโจษจันกันว่า “เมื่อประเทศไทย ไม่มีความเที่ยงธรรม ก็จะไม่มีสันติสุข” เลยทีเดียว
· ฯลฯ


เมื่อพิจารณาดู ความแตกแยก ความวุ่นวายเสียหาย และความตกต่ำของการพัฒนาประเทศในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ก็อาจจะสรุปได้ง่าย ๆ ว่า มันเกิดขึ้นเพราะเราไม่ใช่เสรีประชาธิปไตยครับ กล่าวคือ เราไม่เคารพสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของทุกคนในชาติ เราไม่ยอมให้ตัวแทนประชาชนไปบริหารประเทศตามทำนองคลองธรรม แต่มีความพยายามยัดเยียดผู้นำที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เลือก และเกิดมีการเขียนกฎหมายและแต่งตั้งผู้ใช้กฎหมายที่มาจากคณะรัฐประหาร หรือผู้ปล้นอำนาจประชาชนนั่นแหละครับ ให้เข้ามาจัดการเรื่องความเป็นธรรมของสังคม หลัก ๆ สองสามตัวอย่างใหญ่ ๆ นี้ มันเลยทำให้เกิดความไม่พอใจของประชาชน เมื่อความไม่พอใจมันเกิดขึ้นบ่อย เหมือนกับอาการเจ็บจากหนองที่ขยายตัวบนส่วนบวมของฝีขนาดใหญ่ ประชาชนก็เลยต้องมานั่งร้องระบายออก แถมเวลาร้องเสียงดัง ก็ยังถูกเสียงลึกลับจากในเนื้อหนอง บอกว่าอย่าร้อง อย่าเสียงดัง อย่าวุ่นวาย จงยอมให้หนองอยู่อย่างนั้นต่อไป แต่เราต้องไม่ลืมนะครับ ว่าประชาชนไม่ได้กินหญ้า เขาก็เลยลุกขึ้นมาเอามือจับแตะหนอง เอาตาจ้องวิเคราะห์และปรึกษากัน และพวกเขาก็รู้ดีว่า หนองที่บวมปวด สีเหลืองเปล่งสง่านี้ มันไม่มีทางหาย หากไม่เอาหัวฝีออกมา แค่กระแซะให้น้ำเหลืองไหลออกมาจากเนื้อที่เจ็บ มันไม่พอ การบีบแต่ละครั้ง ไม่ใช่ไม่เจ็บเนื้อนะครับ เขาเสี่ยง เขาเจ็บ และพวกเขาอาจจะท้อด้วย เพราะแตะตรงไหนก็ถูกหัวข้างในขยับตัวกระซิบออกมาเบา ๆ แต่มันเจ็บปวดปลาบยิ่งนัก แต่ไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้วล่ะครับ ประชาชนเข้าใจว่า เวลามันใกล้จะเหมาะแก่การบ่งฝีและบีบเอาหัวออกแล้วครับ … แต่เขาจะใช้กลยุทธใด บีบแรงขนาดไหน บีบจากกี่ทิศ จะเสียน้ำตาหรือไม่ จะฉีดยาชาไหม? เหล่านี้เป็นคำถามที่เวลาได้ช่วยคลี่คำตอบให้บ้างแล้ว และคำตอบสำคัญ ๆ ที่เหลือ ก็คงจะเผยออกมาในอีกไม่ช้านี้แล้ว

=====================

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.