วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
รัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น (พ.ศ. 2489)
รัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ฉบับก่อนหน้านี้ คือฉบับ พ.ศ.2432 ฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2489 โดยมีผลใช้บังคับในหกเดือนถัดมา คือ วันที่ 3 พฤษภาคม 2490 ทั้งนี้ ตามมาตรา 100 วรรคหนึ่ง สำหรับในหน้านี้เป็น คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ จากภาษาอังกฤษ เพื่อใช้อ้างอิงทั่วๆไปเท่านั้น พึงทราบว่าการอ้างอิงบทกฎหมายไม่ว่าของประเทศใดควรอ้างอิงภาษาเดิมควบคู่ไปด้วย
พระราชโองการ
ข้าพเจ้ามีความชื่นชมโสมนัสที่ญี่ปุ่นใหม่ได้รับการวางรากฐาน ตามความประสงค์ของประชาชนชาวญี่ปุ่นแล้ว โดยคำแนะนำขององคมนตรีสภาและมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมาตรา 73 ของรัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น จึงอนุมัติและประกาศให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลได้
ฮิโระฮิโตะ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2489 เป็นปีที่ 21 ในรัชกาลโชวะผู้รับสนองพระราชโองการ
นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย
ชิเงะรุ โยะชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ขุนนางคิจุโระ ชิเดะฮะระ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
โทะกุทะโระ คิมุระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
เซอิชิ โอะมุระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โคะตะโระ ทะนะกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ฮิโร วะดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการป่าไม้
ทะกะโอะ ซะอิโตะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ซะดะโยะชิ ฮิโตะสึมะสึดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร
นิโระ โฮะชิจิมะ ดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม
โยะชินะริ คะวะอิ ดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการ
เอะสึจิโระ อุเอะฮะระ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
สึเนะจิโระ ฮิระสึกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการขนส่ง
ทันซัง อิชิบะชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
โทะกุจิโระ คะนะโมะริ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เคโนะซุเกะ เซ็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
อารัมภบท
บรรดาเราชาวญี่ปุ่นโดยผู้แทนราษฎรที่เราได้เลือกให้ปฏิบัติหน้าที่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้กำหนดลงเป็นมั่นเหมาะว่าเราจะสร้างความมั่นคงให้แก่เราเอง กับทั้งแก่ความสมบูรณ์พูนสุขของเราอันเป็นผลิตผลของความประสานสอดคล้องกันใน ทางสันติระหว่างชาติต่อชาติ และโชคชัยแห่งเสรีภาพอันมีอยู่ทั่วไปในดินแดนแห่งเรา เราเห็นชอบพร้อมกันว่าจะไม่นำพาความโหดร้ายแห่งสงครามไปยังที่ใด โดยผ่านการ กระทำของรัฐบาล เราประกาศว่าอธิปไตยเป็นของปวงชน และสถาปนารัฐธรรมนูญนี้ขึ้นไว้โดยมั่นคง รัฐบาลนั้นเป็นความไว้วางใจอย่างแท้จริงของประชาชน หน้าที่ของรัฐบาลจึงมาจากการมอบหมายของประชาชน อำนาจของรัฐบาลนั้นเล่าก็ต้องกระทำเสมอเป็นผู้แทนปวงชน และที่สุดประโยชน์ทั้งปวงก็จะตกอยู่แก่ประชนชน นี้เป็นหลักการสากลของมนุษยชาติอันก่อให้เกิดเป็นรัฐธรรมนูญนี้ เราขอปฏิเสธและยกเลิกบรรดาธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ ตลอดจนพระราชโองการทั้งปวงที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
บรรดาเราชาวญี่ปุ่นกระหายในสันติภาพทุกเมื่อเชื่อวัน และตระหนักอย่างแท้จริงในอุดมคติสูงส่งอันควบคุมความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษยชาติ และเราได้กำหนดแน่วแนวที่จะพิทักษ์รักษาความมั่นคงและความอยู่รอดของเรา เราเชื่อมั่นในความยุติธรรมและศรัทธาแห่งสันติภาพ เรารักผู้คนทั้งโลก เราประสงค์จะยืนอยู่บนพื้นที่อันทรงเกียรติภูมิท่ามกลางประชาคมโลกที่พากันไขว่คว้าโดยไม่ลดละเพื่อหาทางสงวนและรักษาสันติภาพ และกระทำบัพพาชนียกรรมแก่ระบบทรราชย์ การเอาคนลงเป็นทาส การกดขี่ข่มเหง และการไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง เราตระหนักว่าผู้คนทั้งโลกล้วนมีสิทธิที่จะดำรงอยู่ท่ามกลางสันติภาพ เป็นอิสระจากมายาคติและตัณหา
เราเชื่อว่าหามีชาติใดจะธำรงอยู่ได้โดยลำพังไม่ แต่กฎแห่งจริยธรรมทางการเมืองนั้นเป็นสากล และชนชาติที่ประสงค์จะค้ำจุนอธิปไตยของตนและประสานสัมพันธภาพทางอธิปไตยกับ ชาติอื่นควรเคารพเชื่อฟังกฎเหล่านั้น
บรรดาเราชาวญี่ปุ่นใช้เกียรติศักดิ์แห่งชาติเราเป็นประกันมั่นเหมาะในอัน ที่จะทำให้อุดมคติสูงส่งและวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้รับการบรรลุเพื่อความ บริบูรณ์แห่งชาวเราทุกประการ
หมวด 1 : พระจักรพรรดิ
มาตรา 1พระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ สถานะพระจักรพรรดินั้นทรงได้รับจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
มาตรา 2
การสืบราชบัลลังก์นั้นให้เป็นไปตามลำดับราชวงศ์และตามกฎมนเทียรบาลที่ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
มาตรา 3
พระราชกิจทั้งปวง พระจักรพรรดิทรงปฏิบัติตามคำนำแนะและยินยอมของคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบในพระราชกิจเหล่านี้
มาตรา 4
1. พระราชกิจดังกล่าว พระจักรพรรดิจะทรงปฏิบัติได้ก็แต่ที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐและตามที่รัฐธรรมนูญ นี้กำหนดไว้เท่านั้น จะทรงมีพระราชอำนาจในทางบริหารมิได้
2. พระราชกิจดังกล่าวอันเกี่ยวเนื่องกับรัฐ พระจักรพรรดิจะทรงมอบหมายให้ผู้แทนพระองค์ปฏิบัติแทนก็ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 5
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกฎมนเทียรบาล ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหน้าที่ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐในพระนามาภิไธยพระจักรพรรดิ ในกรณีนี้ให้นำวรรคหนึ่งแห่งมาตราก่อนหน้ามาใช้บังคับ
มาตรา 6
1. พระจักรพรรดิทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเลือก
2. พระจักรพรรดิทรงแต่งตั้งประธานศาลสูงสุดตามที่คณะรัฐมนตรีเลือก
มาตรา 7
กิจการอันเกี่ยวเนื่องกับรัฐดังต่อไปนี้ พระจักรพรรดิจะได้ทรงปฏิบัติในนามของประชาชน โดยคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี
1. การประกาศใช้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกฎหมาย คำสั่งคณะรัฐมนตรี และสนธิสัญญา
2. การเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
3. การยุบสภาผู้แทนราษฎร
4. การประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นการทั่วไป
5. การรับรองการแต่งตั้งและการถอดถอนรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อื่นตามที่กฎหมาย บัญญัติ กับทั้งหนังสือมอบอำนาจและพระราชสาสน์ตราตั้งเอกอัครราชทูตและรัฐมนตรี
6. การรับรองการอภัยโทษในกรณีทั่วไปและกรณีพิเศษ การเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา การชะลอการลงโทษ และการคืนสิทธิ
7. การประสาทรางวัล
8. การรับรองตราสารให้สัตยาบันและเอกสารอื่นทางการทูตตามที่กฎหมายบัญญัติ
9. การรับรองเอกอัครราชทูตและรัฐมนตรีต่างด้าว
10. การปฏิบัติหน้าที่ในทางพิธี
มาตรา 8
พระราชวงศ์จะรับหรือให้ทรัพย์สินใด ๆ มิได้ และผู้ใดจะให้ทรัพย์สินใด ๆ แก่พระราชวงศ์ก็มิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
หมวด 2 : การสละสงคราม
มาตรา 91. โดยที่มีความมุ่งประสงค์อย่างแท้จริงในสันติภาพระหว่างชาติโดยมีความ ยุติธรรมและความสงบเรียบร้อยเป็นพื้นฐาน ชนชาวญี่ปุ่นยอมสละจากสงครามไปตลอดกาลนานโดยให้ถือเป็นสิทธิสูงสุดแห่งชาติ กับทั้งสละจากการคุกคามหรือการใช้กำลังเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างชาติด้วย
2. เพื่อบรรลุความมุ่งประสงค์ในวรรคก่อน จะไม่มีการธำรงไว้ซึ่งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ กับทั้งศักยภาพอื่น ๆ ในทางสงคราม ไม่มีการรับรองสิทธิในการเป็นพันธมิตรในสงคราม
หมวด 3 : สิทธิและหน้าที่ของประชาชน
มาตรา 10เงื่อนไขอันจำเป็นแก่การเป็นชาวญี่ปุ่นให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 11
การจำกัดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนจะกระทำมิได้ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ต้องตกแก่ประชาชนทั้งใน รุ่นนี้และรุ่นหน้าชั่วลูกชั่วหลาน โดยผู้ใดจะละเมิดมิได้
มาตรา 12
เสรีภาพและสิทธิที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ให้แก่ประชาชนต้องธำรงคงอยู่ ผ่านความวิริยอุตสาหะของประชาชนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง การละเมิดเสรีภาพและสิทธิของประชาชนจะกระทำมิได้ และประชาชนต้องมีความรับผิดชอบในการบริหารเสรีภาพและสิทธิเพื่อสวัสดิภาพ ประชาชน
มาตรา 13
ความเป็นมนุษย์ของประชาชนทั้งปวงย่อมได้รับการเคารพ ในการนิติบัญญัติและการบริหารกิจการอื่น ๆ ของรัฐ ให้คำนึงถึงสิทธิที่จะดำรงอยู่ เสรีภาพ และการเข้าถึงความผาสุกของประชาชนเป็นที่ตั้ง ตราบเท่าที่สิ่งเหล่านี้ไม่กระทบกระเทือนสวัสดิภาพประชาชน
มาตรา 14
1. บุคคลทุกคนมีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย การเลือกปฏิบัติทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมเพราะเหตุทางเชื้อชาติ ลัทธิความเชื่อ เพศ สถานภาพทางสังคม หรือเหล่ากำเนิด จะกระทำมิได้
2. ไม่มีชนชั้นขุนนางและฐานันดรศักดิ์
3. การได้รับรางวัลเกียรติยศ ราชอิสริยาภรณ์ หรือยศถาบรรดาศักดิ์ใด ๆ ย่อมไม่ส่งผลให้บุคคลมีเอกสิทธิ์ กับทั้งให้สิ้นสุดลงเมื่อผู้ครอบครองสิ่งดังกล่าวอยู่ในวันที่รัฐธรรมนูญนี้ มีผลใช้บังคับหรือผู้ที่จะได้รับในภายภาคหน้าถึงแก่ความตายแล้ว
มาตรา 15
1. สิทธิในการเลือกตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสิทธิของประชาชนอันไม่อาจถ่ายโอนให้แก่กันได้
2. เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งปวงมีหน้าที่รับใช้สังคมทุกภาคส่วน หาใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่
3. สิทธิเลือกตั้งของผู้บรรลุนิติภาวะปวงย่อมได้รับการรับรอง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ
4. ในบรรดาการเลือกตั้งทุกประเภท การลงคะแนนเลือกตั้งลับย่อมไม่ถูกละเมิด กับทั้งห้ามมิให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งตอบคำถามทั้งในทางสาธารณะหรือส่วนตน เกี่ยวกับการออกเสียงของตน
มาตรา 16
บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะเข้าชื่อกันโดยอาการสงบเพื่อเรียกร้องค่าชด เชยสำหรับความเสียหายก็ดี ให้ถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ดี เสนอ ยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบก็ดี หรือเพื่อการอื่นก็ดี การขัดขวางไม่ว่าโดยประการใดเพื่อมิให้มีการสนับสนุนการเข้าชื่อเช่นว่าจะ กระทำมิได้
มาตรา 17
บุคคลทุกคนย่อมเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐหรือองค์กรของรัฐได้ในกรณีที่ตน ได้รับความเสียหายอันเป็นผลมาจากการกระทำละเมิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ใดก็ดี ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 18
การเอาคนลงเป็นทาสจะกระทำมิได้ไม่ว่าโดยประการใด และการให้จำยอมรับภาระเป็นสิ่งต้องห้ามเว้นแต่ในการลงโทษทางอาญา
มาตรา 19
การละเมิดสิทธิทางความคิดและมโนธรรมจะกระทำมิได้
มาตรา 20
1. บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในทางศาสนา แต่รัฐจะจัดให้องค์การทางศาสนามีเอกสิทธิ์ใด ๆ หรือมีอำนาจหน้าที่ทางการเมืองมิได้
2. การบังคับให้บุคคลเข้าร่วมการกระทำ การสมโภช พิธีการ หรือพิธีกรรมใด ๆ ทางศาสนา จะกระทำมิได้
3. รัฐและองค์กรของรัฐจะจัดการศึกษาทางศาสนาและจะประกอบพิธีกรรมอื่นใดทางศาสนามิได้
มาตรา 21
1. เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม ตลอดจนเสรีภาพในการพูด การพิมพ์ และการแสดงออกอย่างอื่น ล้วนได้รับการรับรอง
2. การตรวจพิจารณาข่าวสารก่อนเผยแพร่ หรือการล่วงละเมิดความลับแห่งวิธีการใด ๆ ในการติดต่อสื่อสาร จะกระทำมิได้
มาตรา 22
1. บุคคลทุกคนย่อมมีเสรีภาพที่จะเลือกและเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ตลอดจนเลือกจะ ประกอบอาชีพของตน ตราบเท่าที่การนั้นไม่กระทบกระเทือนสวัสดิภาพประชาชน
2. เสรีภาพของบุคคลในการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ไปยังต่างด้าวและในการเปลี่ยนแปลงสัญชาติย่อมไม่ถูกละเมิด
มาตรา 23
เสรีภาพในทางวิชาการย่อมได้รับการรับรอง
มาตรา 24
1. โดยพื้นฐานแล้ว การสมรสต้องกระทำโดยความยินยอมร่วมกันของทั้งสองเพศที่ร่วมมือกันตามสิทธิอันเท่าเทียมแห่งสามีและภรรยา
2. การนิติบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกคู่ครอง สิทธิในทรัพย์สิน การรับมรดก การเลือกภูมิลำเนา การหย่าร้าง และการอื่น ๆ เกี่ยวกับการสมรสและครอบครัว ต้องกระทำโดยคำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคกันระหว่างเพศต่าง ๆ เป็นสำคัญ
มาตรา 25
1. บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอันดีงามและพัฒนาแล้วตามมาตรฐานขั้นต่ำ
2. รัฐมีหน้าที่ใช้ความวิริยอุตสาหะในการสร้างเสริมและส่งเสริมสวัสดิการสังคม ความมั่นคงของสังคม และการสาธารณสุขสำหรับบุคคลในทุกช่วงอายุ
มาตรา 26
1. บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยเท่าเทียมกันและสอดคล้องกับความสามารถส่วนตน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
2. ให้บุคคลทุกคนที่มีเยาวชนทั้งชายและหญิงในความดูแลมีหน้าที่จัดให้เยาวชน เหล่านั้นได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายบัญญัติ อันการศึกษาภาคบังคับเช่นว่านี้ย่อมปลอดค่าใช้จ่าย
มาตรา 27
1. บุคคลทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ประกอบการงาน
2. มาตรฐานของค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน เวลาพักผ่อน และเงื่อนไขอื่น ๆ สำหรับแรงงาน ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
3. การแสวงหาประโยชน์จากเด็กจะกระทำมิได้
มาตรา 28
คนงานย่อมมีสิทธิที่จะรวมตัวกันเป็นองค์กร ที่จะต่อรอง และที่จะกระทำการร่วมกัน
มาตรา 29
1. สิทธิของบุคคลในการเป็นเจ้าของหรือครอบครองทรัพย์สินย่อมไม่ถูกละเมิด ส่วนสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินนั้นให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติโดยสอดคล้อง กับสวัสดิภาพประชาชน
2. ทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคลอาจถูกนำอออกให้สาธารณชนใช้ร่วมกันได้โดยเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับสาธารณชนดังกล่าว
มาตรา30
ประชาชนย่อมมีหน้าที่ชำระภาษีตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 31
การพรากชีวิตหรือเสรีภาพไปจากบุคคลจะกระทำมิได้ และบุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญาเว้นแต่ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
มาตรา 32
สิทธิของบุคคลที่จะเข้าถึงกระบวนยุติธรรมย่อมไม่ถูกปฏิเสธ
มาตรา 33
การจับกุมตัวบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้กระทำตามหมายศาลที่ได้ระบุความผิดของบุคคลนั้น หรือเป็นการจับกุมชนิดคาหนังคาเขา
มาตรา 34
การจับกุมหรือกักขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้รับแจ้งการข้อหาของบุคคลนั้นโดยฉับพลันก็ดี เป็นการใช้เอกสิทธิ์ของทนายความอย่างฉับพลันก็ดี หรือได้มีเหตุผลเพียงพอแล้วก็ดี และในการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยซึ่งมีการเบิกตัวบุคคลผู้ถูกจับกุมหรือกักขัง และทนายความของบุคคลนั้น บุคคลผู้นั้นย่อมมีสิทธิร้องขอให้มีการชี้แจงแสดงเหตุผลที่ตนถูกกระทำเช่น นั้นได้
มาตรา 35
1. บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะบริโภคอย่างเป็นสุขซึ่งที่อยู่อาศัยและกระดาษของตนโดย ไม่ถูกผู้ใดบุกรุกก้าวก่าย ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการค้นและการยึดที่ได้กระทำตามหมายศาลอันออกโดยมีเหตุผล เพียงพอและได้ระบุอย่างละเอียดลออซึ่งสถานที่ที่จะค้นและสิ่งที่จะยึด หรือภายในข้อยกเว้นตามมาตรา ๓๓
2. การค้นหรือการยึดในแต่ละครั้งต้องกระทำตามหมายศาลที่ออกให้เป็นครั้ง ๆ
มาตรา 36
เจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการลงโทษโดยวิธีทรมานและทารุณโหดร้ายมิได้
มาตรา 37
1. ผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าและเปิดเผยจากคณะตุลาการที่เที่ยงธรรม
2. บุคคลดังกล่าวย่อมได้รับโอกาสอย่างเต็มที่ในอันที่จะขอตรวจสอบพยานทั้งปวง และย่อมมีสิทธิขอให้ศาลออกหมายเรียกบุคคลใดมาเป็นพยานฝ่ายตนโดยให้ถือเป็น ค่าใช้จ่ายสาธารณะ
3. ผู้ถูกกล่าวหาย่อมมีสิทธิทุกเมื่อที่จะได้รับความช่วยเหลือจากทนายความที่มี ประสิทธิภาพ และหากบุคคลดังกล่าวไม่อาจร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าวได้ ให้รัฐมีหน้าที่จัดหาทนายความเช่นว่าให้
มาตรา 38
1. การบังคับให้บุคคลเป็นพยานยืนยันความผิดของตนเองจะกระทำมิได้
2. การรับเอาคำสารภาพที่ได้จากการบังคับ การทรมาน การขู่เข็ญ หรือการจับกุมหรือกักขังที่มีการขยายระยะเวลา เข้าเป็นหลักฐาน จะกระทำมิได้
3. การประกาศความผิดหรือลงโทษบุคคลใดโดยใช้คำสารภาพของบุคคลนั้นเป็นข้อพิสูจน์จะกระทำมิได้
มาตรา 39
การพิพากษาให้บุคคลใดต้องรับโทษทางอาญาสำหรับการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายใน ขณะที่การนั้นได้กระทำลง หรือการฟ้องคดีอาญาซ้ำในความผิดเดียวกัน จะกระทำมิได้
มาตรา 40
ผู้ใดได้รับการล้างมลทินภายหลังถูกจับกุมหรือกักขัง ย่อมเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
หมวด 4 : สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
มาตรา 41
ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นองค์กรสูงสุดแห่งอำนาจรัฐ และเป็นองค์กรนิติบัญญัติหนึ่งเดียวแห่งรัฐ
มาตรา 42
ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสภาสองสภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร และมนตรีสภา
มาตรา 43
1. ให้สภาทั้งสองประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของปวงชนให้เป็นผู้แทน
2. จำนวนสมาชิกของแต่ละสภาให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 44
คุณสมบัติของสมาชิกทั้งสองสภาและของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่ กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ลัทธิความเชื่อ เพศ สถานภาพทางสังคม เหล่ากำเนิด การศึกษา ทรัพย์สิน หรือรายได้ จะกระทำมิได้
มาตรา 45
ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระดำรงตำแหน่งสี่ปี แต่วาระดังกล่าวให้สิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดได้ในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา 46
ให้สมาชิกมนตรีสภามีวาระดำรงตำแหน่งหกปี และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกกึ่งหนึ่งใหม่ทุกสามปี
มาตรา 47
หน่วยเลือกตั้ง วิธีลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และประการอื่น ๆ เกี่ยวกับวิธีเลือกตั้งสมาชิกของสภาทั้งสอง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 48
บุคคลจะเป็นสมาชิกของสภาทั้งสองในเวลาเดียวกันมิได้
มาตรา 49
ให้สมาชิกของสภาทั้งสองได้รับค่าตอบแทนรายปีจากคลังแผ่นดินโดยเหมาะสม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 50
ในระหว่างสมัยประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สมาชิกของสภาทั้งสองได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกจำกุม และสมาชิกผู้ใดที่ถูกจับกุมก่อนเปิดสมัยประชุมก็ให้ปล่อยตัวเป็นอิสระใน ระหว่างสมัยประชุมตามที่สภาร้องขอ ทั้งนี้ เว้นแต่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นอื่น
มาตรา 51
คำพูด การอภิปราย หรือการออกเสียงลงคะแนนในสภา ย่อมไม่ถูกใช้เป็นข้อกล่าวหาให้สมาชิกของสภาทั้งสองต้องรับผิดภายนอกสภา
มาตรา 52
ให้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติสมัยสามัญปีละครั้งหนึ่ง
มาตรา 53
คณะรัฐมนตรีอาจพิจารณาให้มีการเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติสมัย วิสามัญได้ และในกรณีที่ได้รับการร้องขอจากสมาชิกสภาใด ๆ ก็ดีเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภานั้น ๆ ให้มีการเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติสมัยวิสามัญ ก็ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
มาตรา 54
1. ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปภายในสี่สิบวันนับแต่ วันที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ และให้มีการเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือก ตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
2. ให้ปิดประชุมมนตรีสภาพร้อมกับการยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีจะเรียกประชุมมนตรีสภาสมัยวิสามัญก็ได้
3. บรรดามาตรการที่ได้ดำเนินไปโดยที่ประชุมมนตรีสภาตามบทบัญญัติในวรรคก่อนให้ เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น และจะไม่มีผลบริบูรณ์จนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบภายในสิบวันนับ แต่วันเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติสมัยต่อไป
มาตรา 55
ให้แต่ละสภามีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของสมาชิกของ ตน ทั้งนี้ การให้สมาชิกภาพของสมาชิกผู้ใดสิ้นสุดลง ให้กระทำโดยมติซึ่งได้รับเสียงข้างมากไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิก ทั้งที่มีอยู่ในวันลงคะแนน
มาตรา 56
1. ในสภาทั้งสอง ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งมาประชุมจึงจะเป็นองค์ประชุมมีอำนาจดำเนินกิจการต่าง ๆ ได้
2. มติของที่ประชุมแต่ละสภาต้องกระทำโดยเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุมเว้น แต่ในกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้เป็นอื่น และในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา 57
1. การอภิปรายในแต่ละสภาต้องเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทั้งนี้ การประชุมลับอาจกระทำได้โดยมติของสภานั้น ๆ ซึ่งได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
2. บันทึกการประชุมของแต่ละสภา ให้สภานั้น ๆ มีหน้าที่เก็บรักษาไว้และเผยแพร่ต่อสาธารณชน เว้นแต่ในส่วนของบันทึกที่เกี่ยวกับการประชุมลับจะไม่ต้องเผยแพร่ก็ได้
3. การลงคะแนนเสียงของสมาชิกในกรณีใด ๆ ให้มีการจดไว้ในบันทึกการประชุมเมื่อสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวน สมาชิกทั้งหมดที่มาประชุมร้องขอ
มาตรา 58
1. ให้แต่ละสภาเลือกสรรประธานสภาและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ของตน
2. ให้แต่ละสภามีอำนาจวางระเบียบของตนเกี่ยวกับการประชุม การดำเนินการประชุม และวินัยภายใน กับทั้งอาจลงโทษสมาชิกของตนในความผิดฐานมีพฤติกรรมขัดต่อความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ การให้สมาชิกภาพของสมาชิกผู้ใดสิ้นสุดลง ให้กระทำโดยมติซึ่งได้รับเสียงข้างมากไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิก ทั้งที่มีอยู่ในวันลงคะแนน
มาตรา 59
1. ร่างพระราชบัญญัติจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก สภาทั้งสอง เว้นแต่ในกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้เป็นอื่น
2. ร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้วแต่มนตรีสภาไม่ให้ ความเห็นชอบ จะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบเป็น ครั้งที่สองโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มา ประชุม
3. บทบัญญัติในวรรคก่อนหน้านี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สภาผู้แทนราษฎรจัดให้ มีการประชุมของคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างสภาทั้งสองตามที่กฎหมายบัญญัติ
4. หากมนตรีสภาไม่ดำเนินการใด ๆ ภายในหกสิบวันหลังจากได้รับร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็น ชอบแล้ว สภาผู้แทนราษฎรอาจถือว่ามนตรีสภาไม่ให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติดัง กล่าว ทั้งนี้ เว้นแต่อยู่ในช่วงพักการประชุมมนตรีสภา
มาตรา 60
1. ให้ส่งร่างงบประมาณแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน
2. ในการพิจารณาร่างงบประมาณแผ่นดิน หากมนตรีสภามีความเห็นเป็นอื่นไปจากสภาผู้แทนราษฎร แม้จะได้มีคณะกรรมาธิการร่วมของสภาทั้งสองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อการ นั้นแล้วก็ดี หรือหากมนตรีสภามิได้ดำเนินการใด ๆ ภายในสามสิบวันหลังจากได้รับร่างงบประมาณแผ่นดินที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความ เห็นชอบแล้ว ให้ถือว่ามติของสภาผู้แทนราษฎรเป็นมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งนี้ เว้นแต่อยู่ในช่วงพักการประชุมมนตรีสภา
มาตรา 61
ให้นำความในวรรคสองแห่งมาตราก่อนหน้ามาใช้แก่การพิจารณาให้ความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติซึ่งสนธิสัญญา
มาตรา 62
แต่ละสภาย่อมสามารถดำเนินกระบวนสืบสวนเกี่ยวกับรัฐบาล และเบิกตัวพยานและคำให้การของพยาน ตลอดจนทำสำนวนคดี
มาตรา 63
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่ เมื่อใดที่มีความมุ่งประสงค์จะแถลงเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ เมื่อนั้นจะเข้าร่วมการประชุมของแต่ละสภาก็ได้ กับทั้งมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมสภาเมื่อมีการร้องขอให้ตอบกระทู้ถามหรือให้ คำอธิบาย
มาตรา 64
1. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจัดตั้งคณะตุลาการสำหรับพิจารณาการฟ้องให้ถอดถอน ตุลาการจากตำแหน่งขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยตุลาการซึ่งเป็นสมาชิกจากสภาทั้งสอง มีความมุ่งประสงค์เพื่อไต่สวนตุลาการผู้ถูกฟ้องให้ออกจากตำแหน่ง
2. การทั้งปวงเกี่ยวกับการฟ้องให้ถอดถอนตุลาการจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
หมวด 5 : คณะรัฐมนตรี
มาตรา 65
ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร
มาตรา 66
1. ให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติไว้
2. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ต้องเป็นพลเรือน
3. ในการใช้อำนาจบริหาร ให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะรับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
มาตรา 67
1. นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับเลือกโดยมติของ สมาชิกด้วยกันเอง อันการเลือกนายกรัฐมนตรีนี้ให้กระทำก่อนการอื่นทั้งสิ้น
2. ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรและมนตรีสภาไม่อาจตกลงกันได้ แม้จะได้มีคณะกรรมาธิการร่วมของสภาทั้งสองตามกฎหมายบัญญัติไว้เพื่อการนั้น แล้วก็ดี หรือในกรณีที่มนตรีสภาไม่ให้ความเห็นชอบเลือกบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีก็ดี เว้นแต่อยู่ในช่วงพักการประชุมสภา เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบเลือกบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ให้ถือว่ามติเช่นว่าของสภาผู้แทนราษฎรเป็นมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
มาตรา 68
1. ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีคนอื่น ๆ จากบุคคลที่ได้รับเลือกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
2. การให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะกระทำได้ตามที่เห็นควร
มาตรา 69
หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ หรือไม่มีมติไว้วางใจ ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เว้นแต่จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรภายในสิบวัน
มาตรา 70
ในกรณีที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลง หรือในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งแรกหลังจากมีการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
มาตรา 71
ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตราสองมาตราก่อนหน้านี้ ให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
มาตรา 72
นายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่จัดส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งบรรดาร่างพระราชบัญญัติ และรายงานกิจการทั่วไปของรัฐและความสัมพันธ์กับต่างด้าว กับทั้งกำกับดูแลส่วนราชการต่าง ๆ
มาตรา 73
นอกเหนือจากหน้าที่ทั่วไปในทางบริหารแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
1. ปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และบริหารรัฐกิจ
2. บริหารจัดการกิจการด้านต่างประเทศ
3. พิจารณาให้ความเห็นชอบสนธิสัญญา ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนแล้วแต่กรณี
4. บริหารราชการโดยมาตรฐานที่กฎหมายบัญญัติ
5. จัดทำงบประมาณและนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
6. ตราคำสั่งคณะรัฐมนตรีเพื่อปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย ทั้งนี้ จะมีการกำหนดโทษทางอาญาในคำสั่งคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมิได้ เว้นแต่กฎหมายให้อำนาจไว้
7. พิจารณาให้ความเห็นชอบการอภัยโทษในกรณีทั่วไปและกรณีพิเศษ การเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา การชะลอการลงโทษ และการคืนสิทธิ
มาตรา 74
บรรดากฎหมายและคำสั่งคณะรัฐมนตรีต้องมีรัฐมนตรีผู้รักษาการลงนามและนายรัฐมนตรีลงนามกำกับ
มาตรา 75
ในระหว่างดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีย่อมไม่ถูกดำเนินคดีเว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ความในมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิในการดำเนินคดีเช่นว่า
หมวด 6 : ตุลาการ
มาตรา 76
1. ให้ศาลสูงสุดและศาลชั้นรองทั้งปวงตามที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ
2. การจัดตั้งศาลพิเศษ หรือการมอบหมายให้องค์กรหรือหน่วยงานใด ๆ ของฝ่ายบริหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเป็นที่สุด จะกระทำมิได้
3. บรรดาตุลาการย่อมมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตน และให้ผูกพันกับรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายเท่านั้น
มาตรา 77
1. ให้ศาลสูงสุดมีอำนาจตราระเบียบเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความและการปฏิบัติ หน้าที่ของตน ตลอดจนเกี่ยวกับพนักงานอัยการ วินัยภายในของศาล และการบริหารงานตุลาการ
2. ให้พนักงานอัยการอยู่ในบังคับของระเบียบที่ศาลสูงสุดตราขึ้น
3. ศาลสูงสุดจะมอบหมายอำนาจให้ศาลชั้นรองเป็นผู้ตราระเบียบเกี่ยวกับตนก็ได้
มาตรา 78
ตุลาการพ้นจากตำแหน่งเมื่อถูกฟ้องโดยประชาชนให้ขับออกจากตำแหน่ง หรือเมื่อมีการประกาศโดยศาลว่าเป็นผู้บกพร่องทางจิตหรือทางกายกระทั่งไม่ สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ องค์กรหรือหน่วยงานใด ๆ ของฝ่ายบริหารจะดำเนินการทางวินัยแก่ตุลาการมิได้
มาตรา 79
1. ให้ศาลสูงสุดประกอบด้วยประธานศาลสูงสุดหนึ่งนาย และตุลาการอื่นซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติไว้
2. การแต่งตั้งตุลาการศาลสูงสุดต้องได้รับการพิจารณาทบทวนโดยประชาชนในการเลือก ตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกหลังการแต่ง ตั้งดังกล่าว และต้องได้รับการพิจารณาทบทวนอีกครั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไปซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับจากนั้น
3. ในการตามวรรคก่อน หากเสียงข้างมากของประชาชนเห็นชอบให้ตุลาการผู้ใดพ้นจากตำแหน่ง ผู้นั้นย่อมพ้นจากตำแหน่งไปตามนั้น
4. การพิจารณาทบทวนการใด ๆ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
5. ตุลาการศาลสูงสุดย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อเกษียณอายุตามที่กฎหมายบัญญัติ
6. ตุลาการศาลสูงสุดทุกนายย่อมได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะ ๆ อย่างเหมาะสมและเป็นปรกติในระหว่างดำรงตำแหน่งดังกล่าว การเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่ตุลาการที่อยู่ในตำแหน่งจะกระทำมิได้
มาตรา 80
1. คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งตุลาการศาลชั้นรองจากรายชื่อที่ศาลสูงสุดนำเสนอ บรรดาตุลาการมีวาระดำรงตำแหน่งสิบปีและอาจได้รับแต่งตั้งอีก ทั้งนี้ ตุลาการย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อเกษียณอายุตามที่กฎหมายบัญญัติ
2. ตุลาการศาลชั้นรองย่อมได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะ ๆ อย่างเหมาะสมและเป็นปรกติในระหว่างดำรงตำแหน่งดังกล่าว การเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่ตุลาการที่อยู่ในตำแหน่งจะกระทำมิได้
มาตรา 81
ให้ศาลสูงสุดเป็นศาลชั้นที่สุดซึ่งมีอำนาจพิจารณาว่ากฎหมาย คำสั่ง ระเบียบ หรือการกระทำใดของรัฐขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
มาตรา 82
1. การพิจารณาและการพิพากษาอรรถคดีจะต้องกระทำโดยเปิดเผย
2. หากศาลเห็นว่าการเปิดเผยต่อสาธารณะจะเป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน การพิจารณาคดีนั้นอาจกระทำโดยไม่เปิดเผยก็ได้ แต่การพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดทางการเมือง ความผิดเกี่ยวกับโรงพิมพ์ หรือปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ในหมวด 3. ต้องกระทำโดยเปิดเผยในทุกกรณี
หมวด 7 : การเงิน
มาตรา 83
การบริหารอำนาจในการจัดการการเงินแห่งชาติให้เป็นไปตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำหนด
มาตรา 84
ห้ามมิให้มีการเรียกเก็บภาษีประเภทใหม่หรือเพิ่มภาษีที่มีอยู่แล้ว เว้นแต่ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติ หรือภายในเงื่อนไขที่กฎหมายอาจบัญญัติไว้
มาตรา 85
รัฐจะใช้จ่ายเงินหรือสร้างหนี้ผูกพันตนเองมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
มาตรา 86
ในแต่ละปีงบประมาณ ให้คณะรัฐมนตรีจัดทำงบประมาณแผ่นดินและนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
มาตรา 87
1. เพื่อป้องกันปัญหาเงินงบประมาณแผ่นดินขาดแคลนอย่างมิได้คาดหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจอนุมัติให้มีการจ่ายเงินจากกองทุนสำรองได้ภายใน ความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี
2. เมื่อใช้จ่ายเงินจากกองทุนสำรองแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีรายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
มาตรา 88
บรรดาทรัพย์สินส่วนพระจักรพรรดิให้เป็นสมบัติแห่งรัฐ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำหนดวงเงินไว้ในงบประมาณแผ่นดินสำหรับเป็นค่า ใช้จ่ายของพระราชวงศ์
มาตรา 89
การจ่ายหรือการจัดสรรซึ่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นของสาธารณะ เพื่อใช้จ่ายสำหรับผลประโยชน์หรือบำรุงสถาบันหรือสมาคมทางศาสนา หรือองค์กรการกุศล การศึกษา หรือสงเคราะห์ใด ๆ บรรดาที่มิได้อยู่ภายในการกำกับดูแลของรัฐ จะกระทำมิได้
มาตรา 90
1. ให้มีคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินคณะหนึ่ง มีหน้าที่สอบบัญชีรายรับรายจ่ายสุดท้ายของรัฐอย่างน้อยปีละครั้งหนึ่ง และให้คณะรัฐมนตรีจัดส่งบัญชีรายรับรายจ่ายสุดท้ายพร้อมกับรายงานผลการสอบ บัญชีดังกล่าวไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติในระหว่างปีงบประมาณถัดไปโดยไม่ ชักช้า
2. องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 91
ให้คณะรัฐมนตรีรายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประชาชนเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของรัฐอย่างน้อยปีละครั้งโดยปรกติ
หมวด 8 : การปกครองส่วนท้องถิ่น
มาตรา 92
การตรากฎหมายจัดระเบียบและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กระทำโดยคำนึงถึงหลักความเป็นอิสระในการปกครองตนเองของท้องถิ่น
มาตรา 93
1. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งสภาอันมีหน้าที่เป็นองค์กรให้คำปรึกษาแก่ตน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
2. นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาที่ปรึกษาส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ซึ่งกฎหมายจะได้กำหนดรายละเอียดไว้ ให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยตรง
มาตรา 94
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน กิจการ และการบริหารส่วนท้องถิ่น กับทั้งตราข้อบัญญัติท้องถิ่นโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
มาตรา 95
สภานิติบัญญัติแห่งจะตรากฎหมายให้ใช้บังคับแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใด ๆ เป็นการเฉพาะมิได้ เว้นแต่เสียงส่วนใหญ่ของผู้สิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้น ๆ ให้ความยินยอมตามที่กฎหมายบัญญัติ
หมวด 9 : การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
มาตรา 96
1. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้กระทำได้โดยการเสนอญัตติของสภานิติบัญญัติ แห่งชาติซึ่งได้รับเสียงเห็นชอบร่วมกันไม่น้อยสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มี อยู่ทั้งหมดของสภาทั้งสอง และให้นำเสนอต่อประชาชนเพื่อให้ความเห็นชอบ การนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำหนดให้มีการออกเสียงประชามติเป็นกรณีพิเศษ และต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของประชาชนที่มาลงคะแนนเสียงในวัน นั้น
2. เมื่อได้รับความเห็นชอบจากประชาชนแล้ว ให้พระจักรพรรดิประกาศในนามของประชาชนให้การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลใช้ บังคับโดยไม่ชักช้า และให้นับเข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญนี้
หมวด 10 : กฎหมายสูงสุด
มาตรา 97
สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ให้แก่ชนชาวญี่ปุ่น ล้วนเป็นผลิตผลแห่งการดิ้นรนจะเป็นอิสระของมนุษยชาติที่นับเนื่องมานมนาน มนุษย์เราได้ฟันฝ่าบททดสอบนานัปการอันเรียกร้องหาความอดทน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชนรุ่นเราและชาวรุ่นหน้า สิทธิเหล่านั้นจึงต้องได้รับการยึดถือชั่วกัปชั่วกัลป์ โดยผู้ใดจะละเมิดมิได้
มาตรา 98
1. รัฐธรรมนูญนี้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บรรดาหรือส่วนใดแห่งกฎหมาย ข้อบังคับ พระราชโองการ หรือพระราชบัญญัติ ที่ขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ย่อมไม่มีผลในทางกฎหมายหรือให้มีผลไม่ บริบูรณ์
2. บรรดาสนธิสัญญาที่ญี่ปุ่นยึดถือและกฎหมายที่นานาชาติยอมรับต้องได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
มาตรา 99
พระจักรพรรดิหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กับทั้งรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตุลาการ และเจ้าหน้าที่ทั้งปวงของรัฐมีหน้าที่เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนี้
หมวด 11 : บทเบ็ดเตล็ด
มาตรา 100
1. รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับได้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันประกาศใช้[1]
2. ให้มีการตรากฎหมายอันจำเป็นแก่การใช้บังคับรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งสมาชิกมนตรีสภา และวิธีดำเนินการในการเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตลอดจนการเตรียมการอื่น ๆ อันจำเป็นแก่การใช้บังคับรัฐธรรมนูญนี้ได้ก่อนกำหนดเวลาตามวรรคก่อน
มาตรา 101
หากไม่อาจจัดตั้งมนตรีสภาได้ทันเวลาที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ ให้สภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติจนกว่ามนตรีสภา จะได้รับการจัดตั้ง
มาตรา 102
ให้กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกมนตรีสภาทั้งหมดที่มีอยู่ในสภาซึ่งปฏิบัติ หน้าที่เป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้มีวาระดำรงตำแหน่งสามปี ส่วนสมาชิกมนตรีสภาอีกกึ่งหนึ่งนั้นให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
มาตรา 103
รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และตุลาการ บรรดาที่อยู่ในตำแหน่งในวันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ กับทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งปวงที่มีตำแหน่งตรงกับที่บัญญัติไว้ในรัฐ ธรรมนูญนี้ ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งเช่นว่าโดยอัตโนมัติเหตุเพราะการมีผลใช้บังคับของรัฐ ธรรมนูญนี้เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทนตามรัฐธรรมนูญ นี้แล้ว ให้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งโดยปริยาย
หมายเหตุ
1. ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2489
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.