ยินดีต้อนรับ

พลเมืองที่รอบรู้เท่าทัน คือ พลังประชาธิปไตยที่แท้จริง
Well-informed citizens are the true democratic forces.

Friday, October 23, 2015

"ศุภวุฒิ" ชี้ดัชนีเศรษฐกิจช็อกโลก ซัพพลายล้น-หนี้ท่วม-ดีมานด์หด !! มติชนออนไลน์

"ศุภวุฒิ" ชี้ดัชนีเศรษฐกิจช็อกโลก ซัพพลายล้น-หนี้ท่วม-ดีมานด์หด !!



Full CREDIT: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1445586998


 วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 03:25:14 น.




สัมภาษณ์พิเศษ/ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

 

 

มาตรการพยุงเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังออกฤทธิ์ ขณะที่ "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี ระบุชัดว่า มาตรการเหล่านี้มีเป้าหมาย "ประคับประคอง"เศรษฐกิจ มิใช่การทำให้เศรษฐกิจก้าวกระโดดขึ้นทันทีทันใด ส่วนหลังจากนี้จะเดินหน้าสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะกลาง "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ "ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ" กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) นักเศรษฐศาสตร์ผู้วิเคราะห์เศรษฐกิจด้วยแว่นที่แตกต่าง และมักจะออกโรงชี้ประเด็นที่ยังไม่มีใครเอ่ยถึง

ลุ้นมาตรการรัฐหนุน ศก.ฟื้น

จากคำถามที่ว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง "ดร.ศุภวุฒิ" ประเมินเศรษฐกิจไทยว่า สามารถมองได้ 2 ด้าน ด้านหนึ่ง ถ้ามองฝั่งรัฐบาล เศรษฐกิจไทยขณะนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เพราะได้ใช้นโยบายกระตุ้นในทุก ๆ ด้านออกมามากแล้ว น่าจะช่วยหยุดการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ อีกทั้งหลังจากนี้จะมีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจต่อเนื่อง เมื่อมองในแง่บวกจากนี้แรงกระตุ้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวก็น่าจะมี 

"คนที่มองในแง่บวกจะให้น้ำหนักกับปัจจัยภายในประเทศ เพราะรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นออกมาทุกสัปดาห์ 4 สัปดาห์ติดต่อกันแล้ว และยังสัญญาว่าปี 2559 จะเร่งใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะที่กระทรวงคมนาคมบอกว่า มีโครงการที่อยู่ในลำดับสำคัญ 20 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งในมุมมองผมทำได้ 2 ใน 3 ก็สร้างความมั่นใจได้ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนออกมา"



แต่อีกด้านหนึ่ง เมื่อดูปัจจัยภายนอกยังเห็นว่า เศรษฐกิจโลกยังไม่เอื้อ ยิ่งเมื่อดูการวิเคราะห์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งประเมินภาพเศรษฐกิจโลก ปี 2558 เติบโต 3.1% ปี 2559 เติบโต 3.6% ทั้งระบุว่ามีแนวโน้ม 50% ที่ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะโต 3% หรือต่ำกว่า เพราะปัญหาหนี้ของเอกชนในประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งกู้ยืมเงินมาเยอะมาก

"ตอนนี้หนี้เพิ่มขึ้นไปถึงคอหอยแล้ว จากเดิมเมื่อ 10 ปีที่แล้วบริษัทในประเทศตลาดเกิดใหม่มีหนี้สินรวมประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปลายปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ่งนี้ทำให้น่าเป็นห่วง ซึ่งนักวิเคราะห์ก็โฟกัสไปที่บริษัทในจีนและประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ซึ่งไอเอ็มเอฟระบุชัดว่าให้ระมัดระวังผลกระทบจากการล้มละลายของบริษัทเหล่านี้ ที่จะส่งผลกระเทือนถึงเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ได้" 

ระวังซัพพลายล้นโลก-ธุรกิจล้มละลาย

"ดร.ศุภวุฒิ" ยอมรับว่า คำเตือนของไอเอ็มเอฟอาจทำให้บางคนเชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ โดยเฉพาะในเวลานี้ที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ มีผลให้ตลาดหุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ไต่ขึ้น แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกก็มองเห็นสอดคล้องกับไอเอ็มเอฟว่า สิ่งที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญ คือ กำลังการผลิตในโลกที่ล้นเกินความต้องการ

เนื่องจากหลังวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อปี 2551 หลายประเทศใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายใช้ประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำ ให้บริษัทต่าง ๆ กู้เงินไปขยายกิจการจนมีกำลังผลิตสูงมากทั่วโลก วันนี้บริษัทต่าง ๆ มีกำลังผลิตเยอะ มีหนี้เยอะ แต่ไม่รู้จะขายใคร จึงเกิดอุปทาน (ซัพพลาย) ส่วนเกิน ซึ่งตามกลไกตลาดการแก้ปัญหาอุปทานส่วนเกิน คือ ต้องยอมให้บริษัทที่อ่อนแอล้มละลายเพื่อลดกำลังการผลิต แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตราบใดที่ดอกเบี้ยยังต่ำ ทุกคนก็จะพยายามอุ้มบริษัทในประเทศของตัวเองไว้ ไม่มีใครลดกำลังการผลิต แล้วถ้าวันหนึ่งดอกเบี้ยสหรัฐขึ้น ดอกเบี้ยโลกขึ้นจะเป็นอย่างไร 

"กำลังการผลิตเกินความต้องการนี้เป็นกันทั้งโลก เมื่อมองไปข้างหน้าถ้ายังไม่มีใครยอมลดกำลังการผลิต คนที่อ่อนแอก็ต้องล้มไปก่อน ยิ่งประชากรโลกแก่ตัวลงเรื่อย ๆ กำลังซื้อก็ยิ่งไม่มีเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโลกก็มีโอกาสซึมยาว จึงมีความเสี่ยงที่ปีหน้าจะมีอาการช็อกจากภายนอกเข้ามาอย่างที่คาดไม่ถึง"

พร้อมกันนี้ "ดร.ศุภวุฒิ" ยกตัวอย่างจีนที่พยายามยื้อเศรษฐกิจให้โตว่าเป็นการยื้อแบบให้ประชาชนสร้างหนี้เพิ่ม ซึ่งในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมามีตัวเลขสินเชื่อใหม่ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ เพราะช่วงที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวรัฐบาลอัดเงินให้คนสร้างหนี้เพิ่ม ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว แต่ยันสถานการณ์ในระยะสั้นเท่านั้น ถ้าหนี้โตขึ้นเรื่อย ๆ แต่จีดีพีโตช้าลงเรื่อย ๆ วันหนึ่งก็ต้องทำให้หนี้หยุดโต ต้องลดหนี้ ถึงเวลานั้นจีดีพีจะโตจากอะไร เมื่อที่ผ่านมาพึ่งพาการสร้างหนี้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต

กะเทาะนโยบายลดพึ่งพิงส่งออก

นอกจากนี้เขาได้วิเคราะห์แนวคิดการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยระยะกลางของรัฐบาลว่าหากประเทศไทยจะลดพึ่งพาการส่งออกหันมาพึ่งตลาดภายในประเทศทั้งที่ส่งออกมีสัดส่วนสูงถึง 55% ของจีดีพี และถ้ารวมกับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นการส่งออกภาคบริการก็จะใกล้ ๆ 70% ของจีดีพี หากลดบทบาทส่งออกก็ต้องพึ่งตลาดภายในประเทศจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วน 50% ของจีดีพี แต่การพึ่งการบริโภคในประเทศให้เติบโตในยุคนี้ก็มีอุปสรรคตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยบอก คือ หนี้ครัวเรือนของไทยเยอะมาก ดังนั้น จะให้บริโภคเพิ่มได้อย่างไร 

และล่าสุดรัฐบาลเพิ่งออกมาตรการให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยกู้คนรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และให้เป็นหนี้ผูกพันนานถึง 30 ปี คำถามคือแล้วคนจะเหลือเงินไปซื้ออะไรได้อีก เมื่อคนเหล่านี้คือกลุ่มที่ธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธการให้สินเชื่อ เพราะประเมินแล้วว่าไม่พร้อมจะผ่อนชำระหนี้ก้อนนี้ ถ้าปล่อยกู้ไปก็อาจไม่มีเงินเหลือพอจะบริโภคอย่างอื่นได้ 

เมื่อการบริโภคยังติดบ่วงหนี้ครัวเรือน ดังนั้น แนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจจากการพึ่งพาตลาดในประเทศ อีกองค์ประกอบที่พอจะเดินหน้าไปได้คือปลุกการลงทุนภาคเอกชน แม้ขณะนี้กำลังการผลิตของภาคเอกชนยังเหลืออีกเยอะและยังไม่แน่ใจจะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตไปขายของให้ใคร แต่รัฐบาลก็ได้พยายามแก้โจทย์นี้ด้วยการประกาศให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งต่างๆผ่านการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน(PPP) หรือการประกาศระดมทุนด้วยการทำกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต้อนให้เอกชนเข้ามาในโครงการก่อสร้าง เช่น รถไฟฟ้าสีต่าง ๆ รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ สุวรรณภูมิเฟส 2 เป็นต้น

"เหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็มีคำถามว่าจะกระจายความเจริญไปต่างจังหวัดจะทำอย่างไร เมื่อโครงการที่น่าจะทำได้เร็วที่สุดเป็นโครงการที่กระจุกในกรุงเทพฯ" 

หวังส่งออกปี59 ฟื้นตัวโต 3%

อย่างรก็ตาม บล.ภัทรประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปีนี้จะเติบโต 2.5% ส่วนปีหน้าโต 3.5% การส่งออกปีนี้ติดลบ 4.5% ปี 2559 พลิกเป็นบวก 3% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินส่งออกปีหน้าโตแค่ 1.2% จากปีนี้ติดลบ 5% 

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า แปลกที่ ธปท.ประเมินส่งออกต่ำกว่า บล.ภัทรเพราะ ธปท.ห่วงเศรษฐกิจจีน ขณะที่ในมุมมอง บล.ภัทรแม้จะประเมินตัวเลขส่งออกผิดมา 3 ปีซ้อน แต่ก็มีความหวังว่าปีหน้าส่งออกควรจะเป็นบวก ควรจะฟื้นแม้จะยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดนัก ยกเว้นแต่ว่าประเทศไทยได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า ไทยไม่ได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะมาร์เก็ตแชร์ไม่ได้ลดลง แต่ก็น่าสังเกตและน่ากลัวว่า ถ้ามาร์เก็ตแชร์ไม่ลดทำไมไทยขายของได้น้อยลงติดต่อกัน 3 ปี สะท้อนว่าดีมานด์ของโลกไหลลงใช่ไหม 

แล้วประเทศไทยจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร ในเวลาที่โลกมีอุปทานส่วนเกิน ขณะที่อุปสงค์ลดลง และหนี้ท่วมจนอาจทำให้มีบริษัทที่อ่อนแอล้มได้


 




ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

No comments:

Post a Comment