ยินดีต้อนรับ

พลเมืองที่รอบรู้เท่าทัน คือ พลังประชาธิปไตยที่แท้จริง
Well-informed citizens are the true democratic forces.

Monday, April 6, 2015

"เหตุใดรัชกาลที่ 1 ไม่ให้พระเจ้าตากฯ เข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย" (เครดิตมติชน และ ศิลปวัฒนธรรม)




"เหตุใดรัชกาลที่ 1 ไม่ให้พระเจ้าตากฯ เข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย"

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 20:45:00 น.


"เหตุใดรัชกาลที่๑ ไม่ให้พระเจ้าตากฯ เข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย" ในวรรณกรรมพระราชประวัติพระเจ้าตากสิน

โดย ปฐมพงษ์ สุขเล็ก

บทนำ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมคือเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพคนสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี เป็นขุนศึกที่ไว้พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถวายงานสร้างความชอบจนได้รับการเลื่อนยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอันสูงกว่าขุนนางทั้งปวง พระราชทานเครื่องยศเหมือนอย่างเจ้าต่างกรม

ในช่วงปลายสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเกิดพระสติวิปลาสสร้างเกิดความเดือดร้อนต่ออาณาประชาราษฎร์ ในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นผู้สำเร็จราชการ และชำระโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยอมรับผิดทุกประการ จึงลงโทษด้วยการประหารชีวิต และปราบดาภิเษกพระองค์เองเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป 

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล  และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ตรงกันว่า  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ขอผู้คุมพาไปพบสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นครั้งสุดท้าย แต่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับโบกมือไม่ให้พบ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ดังนี้ 

เพชฌฆาตกับผู้คุมก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไป กับทั้งสังขลิกพันธนาการ  เจ้าตากจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายอยู่แล้ว ช่วยพาเราแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ได้ทอดพระเนตรเห็น จึงโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมและเพชฌฆาตก็หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะเสียถึงแก่พิราลัย จึงรับสั่งให้เอาศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้ และเจ้าตากสิ้นขณะเมื่อสิ้นบุญถึงทำลายชีพนั้นอายุได้สี่สิบแปดปี                                                                                           
(พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, น. ๒๓๐.)

จากเนื้อหาที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารข้างต้นจึงดูขัดแย้งกับความสัมพันธ์และความจงรักภักดีของทั้ง๒ พระองค์ที่มีความคุ้นเคยกันตั้งแต่วัยเยาว์ จึงส่งผลต่อความสัมพันธ์ของทั้ง ๒ พระองค์ในเวลาต่อมาจึงเกิดการตั้งคำถามว่า “เหตุใดรัชกาลที่ ๑ ไม่ให้พระเจ้าตากฯ เข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย” รวมถึงตอนอื่นๆ ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารที่สร้างความกังขาในเรื่องนี้

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดตัวบทวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อมุ่งหมาย“สร้างคำตอบ” ที่เป็นคำอธิบายชุดใหม่ให้สอดคล้องกับเนื้อความในเอกสารทางประวัติศาสตร์ และความมุ่งหมายที่ต้องการ

๑. ความสัมพันธ์ ๒ มหาราช ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ 
เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่มักถูกนำมาใช้อ้างอิงคือ พระราชพงศาวดาร และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ 

พระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงความสัมพันธ์นี้ที่เก่าที่สุดคือพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ในบานแผนกระบุว่าพระราชพงศาวดารฉบับนี้ชำระปี พ.ศ. ๒๓๓๘ (จ.ศ. ๑๑๕๗) ได้เริ่มปรากฏเนื้อความครั้งแรกเมื่อรัชกาลที่ ๑ เป็นพระราชรินทร์รับบัญชายกทัพไปตีพระยาวรวงศาธิราช ดังนี้ “ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธให้พระยาวงศาธิราชมาตั้งรับทางหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้พระราชรินทร์ พระมหามนตรียมไปตีพระยาวงศาธิราช” สำหรับพระราชพงศาวดารที่ถูกเรียบเรียงขึ้นในเวลาต่อมาคือ ฉบับหมอบรัดเล และฉบับพระราชหัตถเลขาได้ปรับปรุงเนื้อหาเล็กน้อย และได้กล่าวถึงรัชกาลที่ ๑ ตรงกันว่าปรากฏครั้งแรกเมื่อพระอนุชา หรือพระมหามนตรีในขณะนั้นรับราชการในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่ก่อน จึงขออนุญาตรับพี่ชายเพื่อถวายตัว ดังนี้ “ขณะนั้นพระมหามนตรี จึงกราบทูลพระกรุณาว่าจะขอไปรับหลวงยกบัตรราชบุรีผู้พี่นั้นเข้ามาถวายตัวทำราชการ  จึงโปรดให้ออกไปรับเข้ามาแล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นพระราชรินทร์”  (ในฉบับหมอบรัดเลใช้ว่า “พระราชวรินทร์”)  

อย่างไรก็ตามพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีทั้งหมดข้างต้นนี้ได้ถูกผลิตซ้ำโดยใช้พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) เป็นแม่แบบในการเรียบเรียงฉบับต่อๆ มา ซึ่งเนื้อความอาจมีการตัดทอน หรือเพิ่มเติมบ้าง แต่เนื้อหาที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ พระองค์นั้นมีความสอดคล้องกันคือ รัชกาลที่ ๑ อยู่ในฐานะแม่ทัพคนสำคัญที่ทำการรบควบคู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สำหรับเนื้อหาที่ปรากฏในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษถึงแม้เอกสารฉบับนี้ยังไม่สามารถสรุปที่มาได้ชัดเจน แต่เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ถูกนำไปอ้างอย่างกว้างขวางในด้านความสัมพันธ์ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีตั้งแต่พระองค์จำพรรษาอยู่ที่วัดมหาทลายที่ปรากฏเรื่องราวของซินแสที่ทำนายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรัชกาลที่ ๑ ว่าจะได้เสวยราชย์ในภายภาคหน้า หรือเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า รัชกาลที่ ๑ ได้ฝากแหวนพลอยและดาบโบราณให้แด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ตั้งค่ายอยู่ที่เมืองชลบุรีพร้อมสั่งเสียว่า“แต่เจ้าจงบอกแก่พระยาตากสินเขาด้วยว่า  ดาบเล่มนี้เปนของๆ ข้าฝากไปให้แก่เขา  แหวนสองวงนั้นเปนของเมียข้าฝากไปตามที่ระลึกถึงกันในเวลากันดารแสนยากแสนแค้น”  และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ตรัสตอบต่อผู้ที่นำมาให้ว่า “พระเจ้าตากทรงรับไว้แล้วจึงตรัสว่า ขอบใจนักหนาที่อยู่ไกลยังมีความอุตสาหะคิดถึงกัน  เช่นนี้เขาเรียกว่ากัลยาณมิตร” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์คุ้นเคยระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรัชกาลที่ ๑ ในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างดี 

จากการเปรียบเนื้อหาที่แสดงความสัมพันธ์คุ้นเคยระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรัชกาลที่ ๑ ปรากฏในพระราชพงศาวดาร และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ เห็นได้ว่าเนื้อความในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษได้แสดงความคุ้นเคยกันมาตั้งแต่วัยเยาว์ในฐานะสหาย ด้วยเหตุนี้เนื้อความที่แสดงถึงความผูกพันในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษจึงขัดแย้งกับการพระราชประวัติช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารถึงแม้เนื้อหาจะมาจากเอกสารต่างชุดกันก็ตาม

๒.จากคำถามใน “ตัวบทประวัติศาสตร์” สู่คำตอบใน “ตัวบทวรรณกรรม” 

ตัวบทวรรณกรรม หรือตัวบทเรื่องเล่า คืองานเขียนประเภทบันเทิงคดีที่ถูกสร้างขึ้นคู่ขนานกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ทั้งในรูปแบบเรื่องสั้นและนวนิยายมีเนื้อหาทั้งที่สอดคล้อง และขัดแย้งกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ การสร้าง “คำตอบ” ของข้อกังขาในเนื้อหาประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อระหว่าง ๒ มหาราชเป็นการสร้างคำอธิบายชุดใหม่ หรือสร้าง “เหตุ” ที่มีความสอดคล้องกับ “ผล” ที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการดัดแปลงแก้ไขรวมถึงตอกย้ำวาทกรรมเดิม  เพื่อยอพระเกียรติ  รวมถึงเน้นย้ำความสัมพันธ์ ในรูปแบบของตัวบทวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดี

ชุดคำตอบเหล่านี้ปรากฏในตัวบทวรรณกรรม ๕ เรื่อง คือ เรื่องสั้นเรื่องใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน นวนิยายเรื่องใครฆ่าพระเจ้าตากสิน? นวนิยายเรื่องผู้อยู่เหนือเงื่อนไข นวนิยายเรื่องตากสิน มหาราชชาตินักรบ  และสารคดีกึ่งบันเทิงคดีเรื่องดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร ปรากฏคำตอบดังนี้ 

รู้ว่าเป็นพระองค์จริง “จึงต้องทำใจ”  ใน ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน

ตัวบทวรรณกรรมเรื่องสั้นเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน ผู้แต่งคือหลวงวิจิตรวาทการ ตีพิมพ์รวมเรื่องสั้นครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๙๔? ปรากฏเนื้อหาที่สร้างคำอธิบายในทำนองว่า รัชกาลที่ ๑ ไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการชำระโทษครั้งนี้ทั้งสิ้น จึงให้เป็นไปตามที่ประชุมขุนนาง จึงสามารถอนุมานได้ว่า เพราะพระองค์ยังมีความผูกพันกัน ดังนั้นรัชกาลที่ ๑ จึง “โบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า”  ดังนี้    

ส่วนทางสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้น ได้ตั้งใจแน่วแน่อยู่แล้วว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้  จึงมอบหมายหน้าที่ให้ที่ประชุมข้าราชการชำระ โดยไม่ต้องมีอะไรพาดพิงมาถึงตัวท่าน จะชำระกันอย่างไร จะพิพากษาว่ากระไร มีผิดจะลงโทษอย่างไร ไม่ผิดจะทำอย่างไร สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไม่ปรารถนาจะเกี่ยวข้อง  ต้องการจะให้เป็นไปตามความเห็นของที่ประชุม เมื่อเห็นคนพาหลวงอาสาศึกซึ่งเข้าใจว่าเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเข้ามาหา สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็โบกมือให้พาออกไป ความมุ่งหมายในการที่โบกมือนั้น ก็เพียงแต่ว่าไม่ขอเกี่ยวข้อง จะขออยู่ในอุเบกขา จะชำระกันอย่างไร ก็สุดแต่ที่ประชุมเสนามาตย์ข้าราชการ แต่พวกที่ควบคุมไปนั้นจะเข้าใจว่าอย่างไรก็ตามที เลยพาตัวไปประหารชีวิตเสียที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์                                                                                                                                     
(ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน,  น. ๓๕๖.)


จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น ได้สร้างคำอธิบายชุดใหม่ส่งผลให้บทบาทของรัชกาลที่ ๑ เปลี่ยนแปลงไปจากเนื้อความในพระราชพงศาวดาร ด้วยการสร้างเหตุผลที่รัชกาลที่ ๑ มีความจำเป็นที่จะต้อง “โบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า” เพราะความรักใคร่คุ้นเคยกันตั้งแต่วัยเยาว์ เรื่อยมาจนถึงเป็นขุนศึกคู่พระทัยดังที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการสืบทอดวาทกรรมที่สร้างความหมายให้ทั้ง ๒ พระองค์เป็นสหายต่อกัน 

แต่จากตัวบทวรรณกรรมเรื่องสั้นเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ ๑ รับรู้ว่าผู้ที่ถูกประหารที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์นั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จริง ถึงแม้ว่าผู้แต่งได้นำเสนอว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จริงสามารถหลบหนีไปเมืองนครศรีธรรมราชได้ก็ตาม 

รู้ว่าเป็นพระองค์ปลอม “จึงไม่สนใจ” ใน ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน? 

ตัวบทวรรณกรรมนวนิยายเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?  ผู้แต่งคือ ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๑๖  ผู้แต่งได้เพิ่มเติมตัวบทด้วยการนำเสนอพระเจ้าตากสินมหาราชที่ถูกประหารชีวิตตัดศีรษะเป็น “พระองค์ปลอม”  เพื่อให้สอดคล้อง และแสดงเหตุผลในเนื้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารคือ  หลังจากที่รัชกาลที่ ๑ ทรงปราบดาภิเษก และสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแล้ว พระองค์และกรมพระราชวังบวรฯ ได้โปรดให้ขุดศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาบังสุกุล ขณะนั้นเจ้าจอมบางส่วนแสดงอาการเสียใจ พระองค์ทั้งสองจึงให้ลงพระราชอาญา ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ดังนี้

ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานคร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ดำรัสให้ขุดหีบศพเจ้าตากขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือใต้ ให้มีการมหรสพและพระราชทานพระสงฆ์บังสุกุล เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพทั้งสองพระองค์ ขณะนั้นพวกเจ้าจอมข้างใน ทั้งพระราชวังหลวงวังหน้า ซึ่งเป็นข้าราชการครั้งแผ่นดินเจ้าตากคิดถึงพระคุณชวนกันร้องไห้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงพิโรธดำรัสให้ลงพระราชอาญา                                                                                                      
(พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, น. ๒๔๓.)


เนื้อความข้างต้นเป็นอีกตอนหนึ่งที่สร้างความกังขาในเรื่องความสัมพันธ์ที่รัชกาลที่ ๑ สั่งลงพระราชอาญาพวกเจ้าจอมข้างในที่ยังอาลัยอาวรณ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีความผูกพันกัน ตัวบทวรรณกรรมเรื่องนี้จึงสร้างวาทกรรมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์ปลอมขึ้นมา เพื่อตอกย้ำมิตรภาพต่อกัน ดังนี้

แต่เมื่อเรารู้ความจริงแล้วว่า ท่านขุดศพคุณมั่น ผู้กตัญญูกตเวทีขึ้นมาเผา เผาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คุณมั่นวีรบุรุษอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพื่อให้คนที่ฝักใฝ่ในองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะได้เห็นจริงว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตแล้ว จะได้เลิกคิดเรื่องการเมืองต่อไป และอย่างน้อยก็เพื่อให้คนทั้งหลายเห็นน้ำพระทัยว่า  ท่านยังระลึกถึงอยู่จึงขุดศพมาเผาให้ แต่เสียงร้องไห้นั้นคงทำให้ท่านรำคาญเพราะไม่ใช่พระศพ เป็นเพียงศพคุณมั่นต่างหาก                                                                                                                  
(ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?, น. ๑๔๗.)


จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น ผู้แต่งได้สร้างคำอธิบายถึงเหตุผลในการกระทำของพระองค์เช่นนี้  เนื่องด้วยรู้ว่าผู้ที่ถูกประหารชีวิตที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ในครั้งนั้นไม่ใช่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์จริงอีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ ๑ รับรู้ในการวางแผนผลัดแผ่นดินครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ยังสอดคล้องกับเนื้อความที่ปรากฏในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษที่กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองพระองค์ 

แท้ที่จริงเป็นแผนของ“หลวงสรวิชิต”  ใน ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข 
ตัวบทวรรณกรรมนวนิยายเรื่อง ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ผู้แต่งคือ สุภา ศิริมานนท์ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๔๕  ผู้แต่งได้สร้างคำอธิบายชุดใหม่ไว้อย่างน่าสนใจคือ ผู้ที่วางแผนการทั้งหมดนั้นคือหลวงสรวิชิต หรือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ผู้แต่งนำเสนอว่าหลวงสรวิชิตโกรธแค้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่สังหารพระเทพโยธาที่ขัดคำสั่งห้ามแวะบ้านด้วยพระองค์เองเพราะพระเทพโยธาเป็นญาติกับหลวงสรวิชิต ด้วยเหตุนี้หลวงสรวิชิตจึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแผนการทั้งหมด รวมถึงเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินพระองค์ปลอม ดังนี้ 

หลวงอาสาศึกตัดสินใจเสียสละชีวิตครั้งนี้โดยไม่ต้องการที่จะให้ท่านรู้เลยด้วยซ้ำ เขาบอกพวกเราอย่างเดียวว่า  ถ้าเขาถูกตัดสินประหารในนามของท่าน เขาจะขอเข้าพบสมเด็จเจ้าพระยาสักเล็กน้อย แต่ผมคิดว่าหลวงอาสาศึกคงจะไม่ได้รับโอกาสนั้นแน่นอน หลวงสรวิชิตเขารู้แก่ใจของเขาดีว่าเรื่องจริงๆ เป็นมาอย่างไร และบุรุษในนามเจ้าตากคนนั้นคือใคร ซึ่งเขาก็ย่อมไม่ปรารถนาจะให้สมเด็จเจ้าพระยาต้องรู้เรื่องที่เขาจัดการไปโดยพลการนั้นด้วย หลวงสรวิชิตรู้ดีว่าผู้ที่จะขอเข้าพบมูลนายของเขานั้นเป็นเจ้ากรุงธนตัวปลอม ความมันอาจจะแตกขึ้น เรื่องก็จะไปกันไกล อันล้วนแต่กลายเป็นข้อซึ่งพิสูจน์ถึงความไม่สามารถของเขา  ทั้งๆ ที่ความจริงเขาสามารถสังหารเสียได้ทั้งเจ้ากรุงธนตัวจริงและตัวปลอมด้วยซ้ำ อีกข้อหนึ่ง ม็อง เยเนราล ข้อหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ  หลวงสรวิชิตรู้ว่าท่านกับมูลนายของเขาเป็นสหายศึกร่วมใจกันมานาน มีความเกี่ยวดองกันในชั้นลูกหลานหลายชั้น...ถ้าหากมีการพูดจารู้เรื่องกันขึ้น โดยอาจจะรำลึกถึงความสัมพันธ์ในอดีต...ผมจึงคิดว่าหลวงอาสาศึกคงไม่ได้รับโอกาสให้พบสมเด็จเจ้าพระยาอย่างเด็ดขาดหลวงสรวิชิตย่อมจะต้องกีดกันไว้ล่วงหน้าแล้วทุกๆ ทาง หรือมิฉะนั้นอีกแง่หนึ่งสมเด็จเจ้าพระยาเขาอาจจะรู้ความจริงโดยถี่ถ้วนหมดแล้วจากหลวงสรวิชิต จึงไม่ยอมที่จะให้เจ้ากรุงธนตัวปลอมเข้าพบก็เป็นได้                                                                                                                                     
(ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข,  น. ๙๗-๙๘.) 

จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ในครั้งนั้นตกอยู่กับหลวงสรวิชิตเท่านั้น และหลวงสรวิชิตยังคงทราบถึงความคุ้นเคยในฐานะสหายและเครือญาติของทั้ง ๒ พระองค์ แต่สำหรับรัชกาลที่ ๑ ยังปรากฏการสร้างคำตอบคล้ายคลึงกับตัวบทวรรณกรรมทั้ง ๒ เรื่องในข้างต้น คือ พระองค์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อีกทั้งการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้เข้าพบรัชกาลที่ ๑ เป็นครั้งสุดท้ายเกิดจากการถูกกีดกันของหลวงสรวิชิต หรือคำอธิบายอีกชุดหนึ่งคือ เพราะรัชกาลที่ ๑ ทราบว่านักโทษผู้นั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์ปลอม 

รัชกาลที่ ๑ เป็นผู้ถวายพระเกียรติยศสูงสุด  ใน ตากสิน มหาราชชาตินักรบ   
ตัวบทวรรณกรรมนวนิยายเรื่อง ตากสิน มหาราชชาตินักรบ ผู้แต่งเป็นชาวต่างชาติคือ Claire Keefe-Fox  (แปลโดย กล้วยไม้  แก้วสนธิ) ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๔๙  ผู้แต่งยังคงอ้างอิงกับเนื้อความตามประวัติศาสตร์ แต่แก้ไขเพิ่มเติม และผสานกับจินตนาการของตน โดยเลือกเนื้อหาการชำระโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจากที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่า พระองค์ถูกประหารที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์  แต่ตัวบทวรรณกรรมได้นำเสนอว่าพระองค์ถูกสำเร็จโทษตามโบราณราชประเพณีสมพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ และที่สำคัญบุคคลที่ต้องการถวายพระเกียรติยศนั้นคือ รัชกาลที่ ๑ ดังนี้

กฎมนเทียรบาลถูกนำมาใช้ในการสำเร็จโทษพระเจ้าตากสินเช่นเดียวกับครั้งกรมหมื่นเทพพิพิธ

มาธิวเคยได้ยินข่าวว่าขุนนางบางคนไม่อยากถวายพระเกียรติดังนี้จะให้ประหารแบบคนทรยศ
 
แต่รัชกาลที่ ๑ ทรงตัดสินให้ประหารชีวิตพระเจ้าตากสินเยี่ยงกษัตริย์
 
ทรงพิจารณาเห็นว่า การที่ราชอาณาจักรสยามยังตั้งอยู่ได้ ก็เพราะพระเจ้าตากสิน

เจ้าหน้าที่ถอดโซ่ที่ล่ามอดีตกษัตริย์ออก ให้พระองค์ทรงภูษาสีแดง ให้ทรงนั่งคุกเข่า มัดพระหัตถ์กับพระบาท จากนั้นจึงคลุมถุงกำมะหยี่สีแดง

เพชฌฆาตยกท่อนไม้จันทน์ขึ้นฟาดแรงๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนพระวรกายไม่ขยับ และพระโลหิตเปื้อนถุงเป็นปื้นดำ ไม่มีเสียงครวญครางใดๆ อีก                                                                                                                
(ตากสิน มหาราชชาตินักรบ, น. ๔๓๖-๔๓๗.)


จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น เป็นการกล่าวถึงวาระสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ถูกชำระโทษ เป็นการสร้างตัวบทเรื่องเล่าที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรัชกาลที่ ๑ ตามที่ถูกสร้างความหมายตั้งแต่ตอนต้น  ด้วยการถวายพระเกียรติยศอย่างสูงสุดจากรัชกาลที่ ๑ ในฐานะที่มีความผูกพันกันตั้งแต่ครั้งวัยเยาว์ การสร้างตัวบทวรรณกรรมที่กล่าวถึงการชำระโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ตัวบทเรื่องนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเน้นย้ำความสัมพันธ์เฉพาะ ๒ พระองค์อย่างเด่นชัด  เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำของพระองค์เป็นการกระทำต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ยังคงความผูกพันกันมาตั้งแต่อดีต 

ดวงชะตาต้องสั่งฆ่าพระเจ้าตากฯ (พระองค์ปลอม)  ใน ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร 

ตัวบทวรรณกรรมสารคดีกึ่งบันเทิงคดีเรื่อง ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร ผู้แต่งคือ อ.เล็ก พลูโต (บุญสม ขอหิรัญ) ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ตัวบทเรื่องเล่าถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยข้อมูลด้านโหราศาสตร์ มีเนื้อหาที่ตอกย้ำถึงการปฏิเสธการสั่งลงอาญาประหารชีวิตตัดศีรษะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของรัชกาลที่ ๑ ด้วยการนำเสนอเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช “พระองค์ปลอม” แต่ที่น่าสนใจคือ การสร้างตัวบทเรื่องเล่าด้วยการใช้ข้อมูลด้านโหราศาสตร์จากดวงพระชะตารัชกาลที่ ๑  ดังนี้   

อาทิตย์ (๑) ของรัชกาลที่ ๑ เป็นดาวเจ้าเรือนมรณะอยู่ในภพสหัชชะ จึงเป็นเหตุทำให้พระองค์ต้องสั่งประหารชีวิตพระเจ้าตากสิน (องค์ปลอม) ด้วยความจำเป็น และพระเจ้าตากสิน (พระองค์จริง) ก็ต้องลี้ภัยการเมือง  ต้องสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ตายก็เหมือนตาย พระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตไปพร้อมกับคุณงามความดี  แต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๑ กลับเสด็จสวรรคตไปพร้อมคำครหาอย่างมากมาย  นั่นเป็นเพราะดวงชะตาลิขิตไว้

...

เมื่อท้องฟ้าสว่าง ความมืดมัวก็หมดไป เหลือแต่ความจริงที่กระจ่างชัดถึงพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่  ทรงไว้ซึ่งความดีและความเสียสละไม่น้อยไปกว่าพระเจ้าตากสิน  ใครที่เคยมีอคติต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๑ ในเรื่องต่างๆ เช่น แย่งชิงราชบัลลังก์ ฆ่าเจ้านาย และพวกพ้องที่รบทัพจับศึกด้วยกันมา ฯลฯ ก็ควรที่จะคิดเสียใหม่...                                                                                                      
(ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร, น. ๓๙.)

จากตัวบทวรรณกรรมข้างต้น ถึงแม้ใจความสำคัญจะอยู่ที่การเน้นย้ำถึงพระองค์ปลอม ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างรัชกาลที่ ๑ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  แต่ที่จริงแล้วผู้สร้างต้องการเน้นย้ำให้เห็นความทุกข์ร้อนและความเสียสละของรัชกาลที่ ๑ ด้วยการนำเสนอถึงคุณงามความดีของรัชกาลที่ ๑ ในการกระทำครั้งนี้ที่ไม่น้อยไปกว่าวีรกรรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในเหตุการณ์นี้  ผู้แต่งใช้ถ้อยคำว่า “แต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๑ กลับเสด็จสวรรคตไปพร้อมคำครหาอย่างมากมาย” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะทางสังคมที่เกิดข้อกังขาในเรื่องความเป็นสหายระหว่าง ๒ พระองค์  สุดท้ายผู้แต่งได้กล่าวสรุปในเชิงแก้ไขภาพลักษณ์ของรัชกาลที่ ๑ อันเป็นใจความสำคัญของตัวบทเรื่องเล่าว่า “ใครที่เคยมีอคติต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๑ ในเรื่องต่างๆ เช่น แย่งชิงราชบัลลังก์ ฆ่าเจ้านาย และพวกพ้องที่รบทัพจับศึกด้วยกันมา ฯลฯ ก็ควรที่จะคิดเสียใหม่...” ซึ่งเป็นการแก้ไขความหมาย รวมถึงปรับประวัติศาสตร์ผ่านตัวบทวรรณกรรมอย่างชัดเจน

สรุป 
การเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัชกาลที่๑ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากเนื้อความที่ “สร้างข้อกังขา” ในประวัติศาสตร์สู่การสร้าง “คำตอบ” ในตัวบทวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดี  เป็นการสร้างตัวบทเรื่องเล่าที่สอดรับ รวมถึงเพิ่มเติมและปฏิเสธบางเนื้อหา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ มหาราช รวมถึงสืบทอดและตอกย้ำวาทกรรม “ความเป็นมิตร” ที่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์บางฉบับ  การนำเสนอพระราชประวัติรัชกาลที่ ๑ ด้วยเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช “พระองค์ปลอม” หรือการนำเสนอคำตอบชุดต่างๆ ผ่านตัวบทวรรณกรรมเหล่านี้ จึงมีนัยที่แสดงถึงความพยายามสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรอยต่อของประวัติศาสตร์ทั้ง ๒ สมัยในยุคปัจจุบัน ดังส่วนหนึ่งที่ปรากฏในตัวบทเรื่องเล่าว่า

“ใครที่เคยมีอคติต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๑ ในเรื่องต่างๆ เช่น แย่งชิงราชบัลลังก์ ฆ่าเจ้านาย และพวกพ้องที่รบทัพจับศึกด้วยกันมา ฯลฯ ก็ควรที่จะคิดเสียใหม่...”

อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ พร้อมเชิงอรรถและบรรณานุกรม ได้ที่ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนเมษายน 2555

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.