ยินดีต้อนรับ

พลเมืองที่รอบรู้เท่าทัน คือ พลังประชาธิปไตยที่แท้จริง
Well-informed citizens are the true democratic forces.

Monday, April 11, 2016

ความขัดแย้งแตกแยกจะจบสิ้นกันตรงไหน เมื่อไหร่ หาก คสช. จังไร ครองเมือง

มองพม่าแลไทย

โดย ลอย ลมบน

ครบ 6 ปี เหตุการณ์นองเลือด 10 เมษายน 2553 วันเสียงปืนแตกเริ่มใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่แยกคอกวัว ก่อนที่จะลามไปถึงราชประสงค์ ส่งผลให้มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

จากเหตุการณ์นั้นทำให้บ้านเมืองร้าวลึกมาถึงวันนี้ สองฝ่ายยังถือความจริงคนละด้านโต้เถียงกันไม่มีใครเป็นคนกลางอย่างแท้จริงจับคู่กรณีเอาทุกอย่างที่มีอยู่ในมือแบบออกมาดูแล้วคัดกรองว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนเท็จ

เมื่อไม่มีคนกลางอย่างแท้จริงมาทำหน้าที่นี้ ความขัดแย้งแตกแยกก็ไม่รู้ว่าจะไปจบสิ้นกันตรงไหน เมื่อไหร่

ต่างจากเพื่อนบ้านอย่างพม่า ที่ประชาธิปไตยล้าหลังที่สุดในอาเซียน แต่วันนี้พม่ากำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่ออนาคตของบ้านเมือง

หลังการเลือกตั้งมีรัฐบาลพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศ ล่าสุดได้มีการทยอยปล่อยนักโทษทางการเมืองออกจากเรือนจำ โดยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลในเมืองทวารวดี ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของพม่า มีคำสั่งปล่อยตัวกลุ่มนักศึกษา 69 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หลังจากถูกจับกุมตัวจากการประท้วงเกี่ยวกับการศึกษา และถูกตำรวจปราบปรามตั้งแต่ปีที่แล้ว และไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ ต่อกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้

นอกจากนี้ยังมีนักโทษทางการเมืองถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำด้วย รวมแล้วมีผู้ได้รับอิสรภาพลอตแรก 138 คน

หลังจากนี้ ประธานาธิบดีถิ่น จอ จะดำเนินการเพื่ออภัยโทษนักโทษทางการเมืองอีกกว่า 100 คน และหลังจากนี้จะลดหย่อนผ่อนโทษให้อีกราว 2,178 คน แม้ยังไม่ได้ออกจากเรือนจำทันที แต่ก็มีระยะเวลาอยู่ในเรือนจำน้อยลง

ทิศทางการเมืองของพม่ากำลังเป็นไปในทางที่ดี สวนทางกับทิศทางการเมืองของไทยที่กำลังแย่งลงเรื่อยๆ

หลังรัฐประหารเป็นต้นมามีนักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาต่างๆจำนวนมาก

มองในมุมของผู้ทำรัฐประหารก็เข้าใจได้ว่าต้องใช้ยาแรงเพื่อกดและกุมสภาพไม่ให้มีการเคลื่อนไหวต่อต้าน

แต่การใช้ยาแรงเกินจำเป็นในหลายกรณีกลับยิ่งไปเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้น ยิ่งการใช้ยาแรงกับฝ่ายหนึ่งแต่ไม่ใช้กับอีกฝ่ายหนึ่งยิ่งเพิ่มความไม่พอใจ

ยิ่งใกล้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญรัฐบาลทหาร คสช. ยิ่งใช้ยาแรงมากขึ้นเพื่อไม่ให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญสะดุดลงกลางคัน

แม้แต่การแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาไม่มีการยุยงปลุกปั่นหรือยั่วยุอย่างแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญพร้อมให้เหตุผลประกอบก็ยังถูกปิดกั้น

หลังเผยแพร่คำแถลงได้ไม่นานเว็บไซต์ก็นิติราษฎร์ ก็ถูกกระทรวงไอซีทีบล็อกห้ามประชาชนเข้าดูโดยบอกว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม

การกระทำช่างย้อนแย้งแตกต่างกับสิ่งที่บอกว่าพร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่ายอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งนี่ก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ไปเพิ่มความขัดแย้งขึ้นมาได้

หรือต้องรอให้รัฐบาลทหารปกครองประเทศไปสักพักใหญ่จนรู้ตัวว่าไปต่อไม่ไปแล้วจึงยอมคืนอำนาจให้ประชาชนเหมือนรัฐบาลทหารพม่า

จริงอยู่ว่าบริบทของไทยกับพม่านั้นแตกต่างกัน

แต่เราก็น่าจะใช้บทเรียนจากพม่าให้เกิดประโยชน์ เมื่อเห็นตัวอย่างแล้วใยเราต้องเดินสวนทางเพื่อไปอยู่ในจุดที่พม่าเคยอยู่มาก่อน


No comments:

Post a Comment